ภูมิบ้านภูมิเมืองกับการปกป้องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
รศ. ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์
ดนตรีและการแสดงเป็นส่วนหนึ่งของงานทางด้านศิลปวัฒนธรรม ในแต่ละสังคมและวัฒนธรรมได้สร้างสรรค์และสืบทอดงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง คุณค่าของดนตรีและการแสดงมิได้อยู่ที่ความเป็นดนตรีหรือการแสดง คุณค่าที่แท้จริงคือการนำมาปรุงแต่งให้คละเคล้าเข้ากับชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ มนุษย์มีความเชื่อมาแต่ครั้งโบราณว่าดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่ผู้เป็นใหญ่เหนือธรรมชาติ ที่เรียกกันหลากหลายว่า พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้า เทพเจ้า ผีฟ้า พญาแถน เยอะเซ้า หรือชื่ออื่นๆ ที่มีความหมายโดยนัยนี้
ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เชื่อว่าเสียงที่วนเวียนอยู่รอบกายของมนุษย์และมีสายเสียงดังอยู่ทุกหนทุกแห่งเป็นเสียงของเทพเจ้า เป็นการไหลเวียนของชีวิตและสรรพสิ่งทั้งระบบจักรวาล มีเกิดขึ้นและดับไป หมุนเปลี่ยนเวียนกลับไม่รู้จบไม่รู้สิ้น เสียงนี้ชาวอินเดียเรียกว่าตัมปูระ นักดนตรีอินเดียที่บรรเลงดนตรีจึงมีการเล่นเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังไม่ขาดสายเสียงดังหนึ่งเหมือนเสียงที่ครอบคลุมจักรวาลเสมอ ชาวกรีกและโรมันในยุคโบราณเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างดนตรีขึ้น ชนชั้นสูงเท่านั้นจึงมีสิทธิ์เล่นดนตรี ฟังดนตรี เรียนดนตรี ชนชั้นทาสและสามัญชนจึงหมดสิทธิ์ ชาวจีนได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี มีหลักฐานมากว่า 5,000 ปี เชื่อเรื่องเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ มีการบวงสรวงและมีดนตรีประกอบในพิธีที่จัดขึ้น ดนตรีจีนเน้นด้านความคิดและอารมณ์ คนเล่นดนตรีต้องเป็นคนที่มีความรู้ ต้องเรียน แม้การฟังก็ต้องมีความรู้ ดนตรีจีนในอดีตจึงมีกรอบวงอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง ปัญญาชน และนักปราชญ์ราชบัณฑิต คนธรรมดาจึงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้หรือเล่นเครื่องดนตรีได้
ในสังคมไทย ดนตรีพิธีกรรมเป็นเครื่องบำบวงเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเครื่องบำเรอถวายพระมหากษัตริยาธิราช ตลอดจนชนชั้นสูง แม้แต่การแสดงที่เป็นระบำรำฟ้อนก็ดำเนินไปเพื่อน้อมถวายต่อเทพเทวาฟ้าดิน จนเมื่อมีการแสดงจับเป็นเรื่องราวจึงนำเอาเรื่องราวจากศาสนา ชาดก และความเชื่อมาปรุงเป็นเนื้อสาระพัฒนาไปสู่เรื่องราวที่เป็นนิทานพื้นบ้าน และเรื่องที่ผูกขึ้นภายหลัง ซึ่งความหมายของเนื้อหา และเป้าหมายได้คลี่คลายออกไปจากแนวคิดที่เริ่มต้นขึ้น และหากมีข้อโต้ว่าในบรรดาชาวบ้านต่างก็มีการแสดง การละเล่นด้วย ควรพินิจพิจารณาอย่างพิเคราะห์ถึงแก่นของความเป็นดนตรีและแม้แต่การแสดงก็ย่อมพบว่าการแสดงนั้นๆ ที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความบันเทิงเริงรมย์แต่ต่างก็กระทำให้เป็นที่น่ารังเกียจของเหล่าเทพเทวา หรือบรรดาผีทั้งปวง ด้วยจงใจบอกกล่าวว่าไม่ได้เล่นเพื่อถวายผู้เป็นใหญ่เหนือภพภูมิ แต่ต้องการให้เป็นเครื่องบำรุงบันเทิงจิตใจ จึงจงใจใช้ถ้อยคำสำเนียงที่หยาบโลน ไม่ต้องตา ไม่ต้องหูของเทพเทวาผีฟ้า และผู้อยู่เหนือภพภูมิมนุษย์ บรรดาเหล่าเทพเทวาจึงไม่ข้องเกี่ยวกับมนุษย์ที่แสดงออกด้วยกิริยาวาจาที่ไม่สุภาพ
ในส่วนของชุมชนแต่ละท้องถิ่นของไทยในแต่ละภูมิภาคต่างก็มีดนตรี มีการแสดง อยู่ในชุมชนของตน ศิลปะการแสดงต่างๆ เหล่านั้น ส่วนมากก็มีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนา ความเชื่อ พิธีกรรม แม้แต่การแห่แหนก็มีความเกี่ยวข้องกัน ต่อเมื่อพัฒนาการของศิลปะการแสดงและดนตรี ดำเนินอยู่ในสังคมมานานแสนนาน มนุษย์จึงนำดนตรีและการแสดงเข้าสู่ระบบวิถีชีวิตของตน ในที่สุดก็สามารถแบ่งพื้นที่กับเทพเทวามาเป็นจริงในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เป็นสิ่งบันเทิงเริงรมย์ มีเสรีที่จะกระทำให้เกิดความไพเราะ สวยงาม สนุกสนาน ตามใจที่มนุษย์ต้องการ จึงเกิดเนื้องานด้านดนตรีและการแสดงจำนวนมากมาย กระจายอยู่ทั่วไปทั้งดินแดนไทยหรือส่วนอื่นๆ ของโลก
การก่อกำเนิดและพัฒนาการของดนตรีและการแสดงจนปรากฏรูปแบบดั่งที่ดำรงสภาพในปัจจุบันนี้ ได้ผ่านขั้นตอนของการทำหน้าที่ให้ความสุขสมบูรณ์ต่อวิถีชีวิตมนุษย์ในแต่ละสังคม จนเป็นมรดกวัฒนธรรม เป็นสัญลักษณ์ของงานศิลปะที่บ่งบอกความงดงาม ไพเราะ เป็นภาพสะท้อนที่บอกเล่าเรื่องราว ยังความภาคภูมิใจให้คนร่วมยุคปัจจุบันว่าสิ่งนี้คือสมบัติล้ำค่าของชุมชน และยังคงทำหน้าที่อยู่อย่างต่อเนื่อง ตราบจนโลกมีการปรับเปลี่ยนมาสู่ยุคแห่งการศึกษาสมัยใหม่ ความก้าวล้ำของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การก้าวกระโดดของระบบแบบของการแพร่กระจาย ส่งผลต่อการรับและแปรเปลี่ยนแนวคิด ค่านิยม สิ่งที่เคยดำรงอยู่ต่างละลดหดหายไปจากสังคม ในขณะเดียวกันการช่วงชิงสิ่งดีงามที่เป็นสมบัติของต่างสังคมวัฒนธรรมก็เกิดขึ้น เป็นการล่วงละเมิดทรัพย์สินทางภูมิปัญญา และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น สิ่งที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงโดยใช้ความได้เปรียบทางการศึกษาและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นำเอามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอื่นไปสร้างความมั่งคั่ง หรือปรับเปลี่ยนและแปลงไปเป็นของตน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงจัดการประชุมขึ้นเพื่อหาวิธีการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมประเภทนามธรรม (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage ) การประชุมที่กล่าวนี้จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2541 กำหนดขอบเขตการดำเนินงานไว้ 5 สาขา คือ
1. มุขปาฐะและการแสดงความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด รวมถึงภาษาในฐานะพาหะของ
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
2. ศิลปะการแสดง
3. การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและการรื่นเริง
4. ความรู้และการปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
5. งานฝีมือแบบดั้งเดิม
หน่วยงานของทางราชการที่ให้ความสำคัญต่อการปกป้องมรดกวัฒนธรรมนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ บุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการริเริ่มโครงการและประสานงาน ดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ได้แก่ นางปริศนา พงศ์ทัศน์ศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นส่วนต้นของงาน มีนางนพพร มุกดามณี รองเลขาธิการ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรม นางสุนันทา มิตรงาม หัวหน้ากลุ่มศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและขนบธรรมเนียมประเพณี นางสุกัญญา มิตรงาม นักวิชาการวัฒนธรรม และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยจัดทำโครงการครอบคลุมทั้ง 5 สาขา สำหรับสาขาหนึ่งในจำนวน 5 สาขา มีความเกี่ยวเนื่องกับงานมรดกวัฒนธรรมด้านดนตรี การแสดง ความเชื่อ พิธีกรรม ตามขอบข่ายสาขาศิลปะการแสดง จึงมีชื่อว่า โครงการภูมิบ้านภูมิเมือง กิจกรรมภูมิหลังภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง ซึ่งกำหนดนิยามไว้ว่า
ศิลปะการแสดง (Performing arts) หมายถึง การแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆ ประกอบด้วยดนตรี นาฏศิลป์ และการแสดงประเภทต่างๆ
งานในส่วนของศิลปะการแสดงนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เชิญนักวิชาการ ศิลปิน และข้าราชการบำนาญ จากสถาบันการศึกษา และสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวรสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และโรงเรียนราชานุบาล จังหวัดน่าน โดยมีรองศาสตราจารย์ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกรรมการ การเชิญบุคลากรจากหลากหลายสถาบันและกระจายตามภูมิภาคเช่นนี้ ก็เพื่อให้ร่วมกันดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ
คณะกรรมการทุกคนทำหน้าที่เป็นกรรมการแกน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็จำแนกกรรมการของชุดแกนนี้ออกเป็น 4 ชุด เพื่อทำหน้าที่เป็นกรรมการแกนภาค แบ่งภารกิจในการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่กรรมการวัฒนธรรมจังหวัด (ดู คณะกรรมการแกนภาค) จุดประสงค์หลักของการดำเนินงานโครงการภูมิบ้านภูมิเมืองนี้ มี 4 ประการ คือ
1. เพื่อศึกษา รวบรวม และบันทึกข้อมูล ภูมิหลังภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงทั่ว
ประเทศอย่างเป็นระบบ
2. เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพของภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3. เพื่อจัดทำคลังข้อมูลและขึ้นทะเบียนภูมิหลังภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง
4. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงมา
ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ
ในด้านการจัดเก็บข้อมูลภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงตามโครงการ มีขอบข่ายในส่วนของงานด้านศิลปะการแสดงครอบคลุมเนื้อหาสาระ ทั้งที่เป็นการแสดงออกที่สามารถสัมผัสได้ด้วยการดูและการฟัง ตลอดจนความเชื่อ คำอธิบาย และสารัตถะต่างๆ ดังนี้
1. ศิลปะด้านดนตรีทั้งในรูปวงบรรเลง การเล่นเครื่องดนตรีอิสระ ดนตรีพระราชพิธี
ดนตรีเพื่อความบันเทิง เพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม ดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรมทั้งในงานมงคล งานอวมงคล ดนตรีเพื่อประกอบการแสดง ฯลฯ
2. ดนตรีเพื่อการแข่งขัน เช่น แข่งปืด แข่งโพน แข่งกลองโพล็ก แข่งกลองยาว เส็ง
กลอง แข่งกรือโต๊ะ แข่งบานอ ฯลฯ
3. ศิลปะด้านการแสดงเป็นเรื่องเป็นราว ประเภท โขน หนังใหญ่ ละคร ลิเก โขนสด
ละครซอ ตุ๊บเก่ง มะโย่ง โนรา หนังตะลุง เท่งตุ๊ก ฯลฯ
4. การร่ายรำ การใช้ท่าทางเพื่อประกอบพิธีกรรม ประกอบดนตรีในพิธีกรรมบางอย่าง
เช่น พิธีผีมดผีเม็ง ผีฟ้า ลำข่วง ตือรี โนราโรงครู ไหว้ครูเจ้า ฯลฯ
5. ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ในประเทศไทย และมีศิลปวัฒนธรรมด้านนี้ เช่น ไทย
ใหญ่ ม้ง เมี่ยน ลีซอ กะเหรี่ยง มูเซอ อาข่า ลั้วะ ก่อ โซ่ง พวน ชาวเล ภูไทย ยอง ซาไก ตองเหลือง ชอง มอญ ลาว พม่า เขมร ธิเบต จีน ญวน ฯลฯ
6. ดนตรีประเภทแห่ เช่น วงกลองยาว วงแตรวง วงอังกะลุง วงแคนวง วงปี่กลอง
ของลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ฯลฯ
7. เพลงขับร้อง และเพลงพื้นบ้าน ที่ปรากฏอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อ 4 เพลงร้องพื้น
บ้าน เช่น เพลงอีแซว เพลงรำวงชาวบ้าน เพลงเหย่อย เพลงรำภา เพลงขอทาน เพลงเห่เรือ เพลงนา หมอลำ ซอ จ๊อย เพลงกล่อมลูกท้องถิ่นต่างๆ เพลงดีเกฮูลู ดาระ ฯลฯ
8. ทำนองสวด เช่น ทำนองสวดของพระสงฆ์ตามถิ่นต่างๆ ทำนองสวดเพื่อพิธีกรรม
บางลักษณะ (เทศน์ภาณยักษ์ เทศน์มหาชาติ สวดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและความเชื่อ) ทำนองสวดของแต่ละศาสนา ทำนองสวดของฆารวาสในรูปของสวดพระมาลัย ฯลฯ
9. ช่างทำเครื่องดนตรี ทั้งช่างทำเครื่องดนตรีเพื่อประกอบธุรกิจ ช่างทำเครื่องดนตรีเพื่อ
ใช้ภายในกลุ่มสังคม การสร้างเครื่องดนตรีของบุคคลแต่ละท้องถิ่น
10. ช่างทำอุปกรณ์การแสดง เช่น ช่างทำหัวโขน ช่างแกะหนังใหญ่ ช่างแกะหนังตะลุง
ช่างสร้างเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์การแสดงต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และท้องถิ่นต่างๆ
11 . กิจกรรมด้านศิลปะการแสดงอื่นๆ ที่ปรากฏในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด
ในด้านการปฏิบัติงานระดับจังหวัด กำหนดคณะกรรมการไว้ขั้นต่ำ 6 คน โดยคำนึกถึงยานพาหนะปฏิบัติงานคือรถตู้ 1 คัน หาก มีคณะกรรมการวัฒนธรรมจังหวัด 6 คน วิทยากรที่เป็นกรรมการแกนภาค (กรณีที่สามารถร่วมปฏิบัติงานได้) จำนวน 2 คน คนนำทางเข้าสู่พื้นที่สนามศึกษา 1 2 คน สำหรับกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดแต่ละคนมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ คือ
คนที่ 1 ประธานคณะทำงาน
ประธานมีหน้าที่ทำความเข้าใจนโยบาย กรอบการทำงาน ตลอดจนกลไกการทำงานตามโครงการ บริหารแต่ละหัวข้อเนื้องานที่กำหนดไว้ ตามห้วงเวลาที่กำหนด ประชุมกรรมการแต่ละฝ่าย แบ่งการทำงานตามลักษณะภารกิจของแต่ละฝ่าย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ศึกษา เช่น สำนักงานจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด เจ้าหน้าที่ของอำเภอที่เกี่ยวข้อง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าอาวาส ผู้นำชุมชนมุสลิม ศาสนาจารย์ สงเคราะห์จังหวัด สงเคราะห์ชาวเขา ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา หรือติดต่อกับศิลปิน ช่างทำเครื่องดนตรี ฯลฯ ติดตามงานของแต่ละฝ่าย ให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หน้าที่อื่นๆ ที่ต้องบริหาร และตรวจสอบระบบการบันทึกเพื่อการอ้างอิงของกรรมการแต่ละฝ่าย
คนที่ 2 กรรมการฝ่ายบันทึกภาพนิ่ง
กรรมการฝ่ายนี้มีภารกิจบันทึกภาพที่ปรากฏในงานภาคสนาม ตามรูปแบบและลักษณะของงาน ประกอบด้วย ภาพการแสดงของศิลปิน ในมุมต่างๆ ภาพท่ารำ มุมต่างๆ ภาพเครื่องแต่งกายของนักแสดง ภาพอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง ภาพการบรรเลงดนตรีของศิลปิน ภาพเครื่องดนตรี ภาพเครื่องพิธีกรรม ภาพการประกอบพิธีกรรม ภาพการปฏิบัติงานมุมต่างๆ ของคณะทำงานภาพบริบทที่รายรอบ เช่น คนชมการแสดง ชมการบรรเลง การล้อมมุงดูการทำงานของคณะทำงาน โบสถ์ วัด มัสยิด ศาลา หมู่บ้าน ความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน ป่าไม้ ภาพแผนที่ของชุมชนที่จัดไว้ในบริเวณหมู่บ้าน ฯลฯ จัดทำระบบการบันทึกเพื่อการอ้างอิง ปฏิบัติตามแนวทางของวิทยากร หัวข้อ เทคนิคการเก็บข้อมูลด้านการบันทึกภาพนิ่ง
คนที่ 3 กรรมการฝ่ายบันทึกภาพเคลื่อนไหว
กรรมการฝ่ายนี้มีภารกิจบันทึกภาพที่ปรากฏในงานภาคสนาม ด้วยวีดิโอ ตามรูปแบบและลักษณะของงาน ประกอบด้วย การบันทึกภาพระหว่างการแสดงของศิลปิน ตามมุมต่างๆ ภาพระหว่างการบรรเลงดนตรีของศิลปิน ทั้งบรรเลงเป็นวง หรือแสดงเดี่ยว ภาพระหว่างการประกอบพิธีกรรม ภาพระหว่างการปฏิบัติงานมุมต่างๆ ของคณะทำงาน ภาพบริบทที่รายรอบ เช่น คนชมการแสดง ชมการบรรเลง การล้อมมุงดูการทำงาน ของคณะทำงาน โบสถ์ วัด มัสยิด ศาลา หมู่บ้าน ความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชน ป่าไม้ ภาพแผนที่ของชุมชนที่จัดไว้ในบริเวณหมู่บ้าน ฯลฯ จัดทำระบบการบันทึกเพื่อการอ้างอิง ปฏิบัติตามแนวทางของวิทยากร หัวข้อ เทคนิคการเก็บข้อมูลด้านการบันทึกภาพเคลื่อนไหว
คนที่ 4 กรรมการฝ่ายบันทึกเสียง
กรรมการฝ่ายนี้มีภารกิจบันทึกภาพที่ปรากฏในงานภาคสนาม ด้วยเครื่องบันทึกเสียง ตามรูปแบบและลักษณะของงาน ประกอบด้วยการบันทึกเสียงระหว่างการแสดงและการขับร้องของศิลปิน เสียงที่เกิดจากไล่เรียงระดับเสียงของเครื่องดนตรี เสียงระหว่างการบรรเลงดนตรีของศิลปิน ทั้งบรรเลงเป็นวง หรือแสดงเดี่ยว เสียงระหว่างการประกอบพิธีกรรม จัดทำระบบการบันทึกเพื่อการอ้างอิง ปฏิบัติตามแนวทางของวิทยากร หัวข้อ เทคนิคการเก็บข้อมูลด้านการบันทึกเสียง
คนที่ 5 และคนที่ 6 กรรมการฝ่ายบันทึกข้อมูลสารัตถะและบริบท
กรรมการฝ่ายนี้มีภารกิจสัมภาษณ์บุคคลข้อมูล โดยมีรายละเอียดต่างๆ เช่น สถานภาพส่วนตัวของบุคคล ทั้งที่เป็นศิลปิน นักแสดง นักร้อง นักดนตรี เนื้อหาสาระเกี่ยวกับการแสดง
ลักษณะการบรรเลงดนตรี บทร้อง บทละคร บทหนัง ประวัติความเป็นมาของคณะของงานศิลปะนั้น ความเชื่อ การประกอบพิธีกรรม คำศัพท์เฉพาะที่พบในการศึกษา เลือกหาบุคคลที่สามารถนำมาประกอบเรียบเรียงตามประเด็นศึกษา เช่น ผู้นำชุมชน พระ โต๊ะครู ศาสนาจารย์ หัวหน้าชนเผ่า ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลภูมิปัญญาประจำหมู่บ้าน ผู้ชมการแสดง ฯลฯ จัดทำรายงานผลการเก็บข้อมูลภูมิบ้านภูมิเมือง ตามสารัตถะที่ได้จากการศึกษาแต่ละครั้งงาน โดยให้นำข้อมูลระบบการบันทึกเพื่อการอ้างอิงของฝ่ายบันทึกภาพนิ่ง ฝ่ายบันทึกภาพเคลื่อนไหว ฝ่ายบันทึกข้อมูลเสียง เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรายงานเอกสาร ปฏิบัติตามแนวทางของวิทยากร หัวข้อ เทคนิคการเก็บข้อมูลด้านสารัตถะและบริบทที่เกี่ยวข้อง
เป้าหมายของโครงการ
โครงการนี้สำนักงานคณะกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานให้แก่ทุกจังหวัด กำหนดเป้าหมายไว้ 4 ปี ต่อเนื่องกัน ระหว่าง พ.ศ. 2548 2551 มีเป้าหมายด้านเนื้องานเชิงปริมาณรวม 1,520 หัวข้อ ดังนี้
ปีที่ |
จำนวนจังหวัด |
ปริมาณจังหวัดละ |
รวมหัวข้อที่เก็บ |
1
2
3
4 |
76
76
76
76 |
5
5
5
5 |
380
380
380
380 |
- |
- |
- |
1,520 |
ในการเริ่มปฏิบัติงานตามโครงการนี้คณะวิทยากร และคณะทำงานของสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยเชิญคณะกรรมวัฒนธรรมจังหวัด จำนวนจังหวัดละ 6 คน (เป็นอย่างน้อย) ประชุมปฏิบัติการไปแล้วจำนวน 4 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 12 ถึงวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2548
จัดที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
ครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 16 ถึงวันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2548
จัดที่โรงแรมแม็กซ์ ถนนพระรามเก้า กรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 3 วันพฤหัสบดีที่ 19 ถึงวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2548
จัดที่โรงแรมรัอยัล ปริ๊นเซส โคราช จังหวัดนครราชสีมา
ครั้งที่ 4 วันพุธที่ 25 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2548
จัดที่โรงแรมไดมอนด์ พลาซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในการประชุมปฏิบัติการ มุ่งไปที่ระเบียบวิธีการจัดเก็บข้อมูลภาคสนามและตามภารกิจที่กรรมการแต่ละฝ่ายรับผิดชอบ และเนื่องจากในปีงบประมาณ 2548 มีห้วงเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แต่ละจังหวัดจึงเสนอเนื้องานที่วางแผนลงงานเบื้องต้น ข้อมูลดนตรี เพลง ศิลปะการแสดง พิธีกรรม ที่แต่ละจังหวัดกำหนดหัวข้อศึกษา (ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่ยังไม่มีการขับเคลื่อนทั้งด้านการรปะชุมปฏิบัติการ และการจัดคณะกรรมการ) หลังจากปีงบประมาณ 2548 แล้ว การดำเนินงานจึงเข้าสู่รูปแบบของแผนงาน ข้อมูลศิลปะการแสดงที่แต่ละสำนักงานคณะกรรมการจังหวัดเสนอเพื่อปฏิบัติงาน มีดังนี้
ประเภท ดนตรีและเพลงบรรเลง
ภาคเหนือ
1. เชียงใหม่ : วงสะล้อ ซึง / ฟ้อนสาวไหม ของจังหวัดเชียงใหม่
2. อุตรดิตถ์ : วงสะล้อ ซอ ซึง จังหวัดอุตรดิตถ์
3. พิษณุโลก : วงมังคละ
4. แม่ฮ่องสอน : ตอยอฮอร์น
5. น่าน : วงสะล้อ ซอ ปิน จังหวัดน่าน
6. พะเยา : วงซอ จังหวัดน่าน
7. ลำปาง : เปี๊ยะ
8. แพร่ : วงซอ จังหวัดแพร่
9. ลำพูน : กลองหลวง
ภาคกลาง
- สมุทรสงคราม : วงปี่พาทย์ ของจังหวัดสมุทรสงคราม
- นครปฐม : การผลิตระนาดเอกของครูหวาด มั่นศรีจันทร์
และวงดนตรีของครูสนั่น แก้วบูชา
- นครนายก : ปี่พาทย์มอญ ประสมกับการแสดงอังกะลุง
- สมุทรสาคร : แตรวง กลองยาว ของจังหวัดสมุทรสาคร
- ปทุมธานี : ปี่พาทย์มอญ จังหวัดปทุมธานี
- ชลบุรี : กลองยาวบางพระ จังหวัดชลบุรี
- ประจวบฯ : วงปี่พาทย์มอญในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- อุทัยธานี : ดนตรีไทยในจังหวัดอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. มหาสารคาม : กลองยาววาปี อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
2. บุรีรัมย์: วงมโหรีปี่พาทย์เขมร
3. ศรีสะเกษ: สะไน กลองตุ้ม ของจังหวัดศรีสะเกษ
ภาคใต้
1. ยะลา : ลิเกฮูลู อ.ยะหา จ.ยะลา
2. ระนอง : เพลงบอก ของ จ.ระนอง
3. นราธิวาส : ซัมเป็ง ของ จ.นราธิวาส
4. ชุมพร : เพลงนา ของ จ.ชุมพร
5. สตูล : ดาระ ของ จ.สตูล
ประเภท การแสดง เน้นศิลปะการแสดงเป็นเรื่องราว
ภาคเหนือ
1. นครสวรรค์ : ลิเกของจังหวัดนครสวรรค์
2. พิจิตร : ลิเกของจังหวัดพิจิตร
3. เพชรบูรณ์ : ตุ๊บเก่งและแมงตับเต่าของจังหวัดเพชรบูรณ์
ภาคกลาง
1. เพชรบุรี : ละครชาตรีเมืองเพชร
2. ระยอง : หนังใหญ่วัดบ้านดอน
3. สิงห์บุรี : ลิเกในจังหวัดสิงห์บุรี
4. พระนครศรีอยุธยา : ละครในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
5. จันทบุรี : การแสดงทุ่งตุ๊ก จังหวัดจันทบุรี
6. นนทบุรี : หุ่นละครเล็ก
7. ราชบุรี : หนังใหญ่ จังหวัดราชบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. หนองคาย: หนังบักตื้อ
2. สุรินทร์: ลิเกเขมร
3. อำนาจเจริญ: หนังตะลุงอีสาน
ภาคใต้
1. ภูเก็ต : หุ่นเชิดจีน จ.ภูเก็ต
2. พังงา : ลิเกป่าของ จ.พังงา
3. นราธิวาส : มะโย่ง
4. พัทลุง : หนังตะลุง
5. กระบี่ : ลิเกป่าของ จ.กระบี่
6. สุราษฎร์ธานี : หนังตะลุง ศรีพัฒน์
7. นครศรีธรรมราช : โนราโกลน
ประเภท เพลงร้อง ฟ้อนรำ
ภาคเหนือ
1. กำแพงเพชร : เพลงพื้นบ้านกำแพงเพชร กรณีศึกษา
2. นครสวรรค์ : เต้นกำรำเคียว
3. แม่ฮ่องสอน : กิงกะหล่า
4. เชียงราย : ค่าว จ๊อยฮ่ำ ซอ
5. สุโขทัย : การละเล่นพื้นบ้านสุโขทัย
6. ลำปาง : ฟ้อนพื้นเมือง
7. ลำพูน : กะโลง
8. ตาก : ระบำกะลา
ภาคกลาง
1. สุพรรณบุรี: เพลงพื้นบ้าน อ.ศรีประจันต์
2. กาญจนบุรี : เพลงร่อยพรรษา จ.กาญจนบุรี
3. ฉะเชิงเทรา : รำแก้บนหลวงพ่อโสธร
4. สระบุรี : รำโทน จ.สระบุรี
5. ตราด : รำสวด ของจังหวัดตราด
6. ลพบุรี : รำโทน ของจังหวัดลพบุรี
7. ชัยนาท : รำรำมะนา ของจังหวัดชัย่นาท
8. ปราจีนบุรี : นางด้ง ของจังหวัดปราจีนบุรี
9. อ่างทอง : เพลงเรือ จังหวัดอ่างทอง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. กาฬสินธุ์ : ฟ้อนภูไท จังหวัดกาฬสินธุ์
2. หนองบัวลำภู : รำคองกา หรือหมอลำในจ. หนองบัวลำภู
3. ชัยภูมิ : ลำผีฟ้า (ลำส่อง)
4. อุดรธานี : หมอลำกลอน ของจังหวัดอุดรธานี
5. ร้อยเอ็ด : รำกกขาขาวบ้านเหล่าตำแย
6. นครราชสีมา : รำโทนโคราช
7. ยะโสธร : ฟ้อนกลองตุ้ม ของจังหวัดยะโสธร
8. ศรีสะเกษ : ตร๊ด ของจังหวัดศรีสะเกษ
9. ขอนแก่น : หมอลำแคน ของจังหวัดขอนแก่น
10. สุรินทร์ : เจรียง ของจังหวัดสุรินทร์
11. นครพนม : แสกเต้นสาก
12. สกลนคร : การรำมวยโบราณ
13. เลย : ผีตาโขน ผีขนน้ำของเลย
14. อำนาจเจริญ : หมอลำหมู่ของจังหวัดอำนาจเจริญ
15. อุบลราชธานี : หมอลำพื้นของจังหวัดอุบลราชธานี
ภาคใต้
1. ภูเก็ต : มวยกาหยงของชาวเล
2. นราธิวาส : สิละของ จ.นราธิวาส
ประเภทศิลปะการแสดงที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม
ภาคใต้
1. สงขลา : โนราโรงครูอ่ำ อ่อนสันต์
2. ตรัง : กาหลอ ของ จ.ตรัง
3. ปัตตานี : กาหลอ ของ จ.ปัตตานี
โครงการภูมิบ้านภูมิเมืองนี้มีทิศทางในด้านการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลด้านดนตรี และศิลปะการแสดง โดยจัดกระทำอย่างเป็นระบบ มีคณะกรรมการปฏิบัติงาน มีงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องจากทางราชการซึ่งเป็นหน่วยงานหลักคือสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ส่วนสำคัญที่สุดคือการทำงานอย่างมีหลักวิชาและผู้ลงมือปฏิบัติงานคือบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถติดต่อประสานงาน ทราบข้อมูลพื้นฐาน และทำการศึกษาตามกรอบงานได้เป็นอย่างดี ผลของการดำเนินงานที่ได้รับเป็นข้อมูลมรดกวัฒนธรรมของชาติมีการนำไปจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ หน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัด สภาจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา หรือคนไทยสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้ ในขณะเดียวกันข้อมูลมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญบางส่วน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะเป็นผู้นำไปจดลิขสิทธิ์ด้านภูมิปัญญาไทย เพื่อปกป้องมรดกวัฒนธรรมไว้เพื่อคนไทยสืบไป.