ดนตรีในงานประเพณีปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล เชียงใหม่
รศ. ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์
ดนตรี เป็นผลิตผลของมนุษย์ที่ปรุงแต่งขึ้นเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ คุณค่าสำคัญของดนตรีมิได้อยู่เพียงที่ตัวเนื้องานดนตรีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วคุณค่าของดนตรีเกิดจากการนำเนื้องานนั้นมาปรุงเพื่อปรับเปลี่ยนอารมณ์ จิตใจและเชื่อมขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่มีอยู่ในสังคมของมนุษย์ ด้วยหลักการดังกล่าวนี้เองที่มนุษย์นำเอาดนตรีมาเป็นเครื่องบันเทิงใจและนำมาเพื่อการเฉลิมฉลอง ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดี และสร้างสมานฉันท์ในกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม
ที่วัดสันดอนมูล (บ้านแคว) ตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่ประกอบงานบุญใหญ่ขึ้นระหว่างวันที่ 4 6 มีนาคม 2548 งานนี้มีชื่อเรียกว่างานปอยหลวง งานลักษณะนี้จัดเป็นกิจกรรมทางสังคมที่มีความสำคัญของสังคมล้านนาแถบเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน ฯลฯ ดินแดนล้านนาบางท้องถิ่นอาจไม่ปรากฏประเพณีนี้ก็ได้ เช่น แถบจังหวัดน่าน และเชียงรายบางส่วน เป็นต้น งานปอยหลวงนี้มิได้มีการจัดเหมือนอย่างงานเทศกาลประจำปี การจัดงานปอยหลวงเกิดขึ้นเมื่อวัดใดวัดหนึ่งมีการก่อสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ขึ้น เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเหรียญ กุฏิ ฯลฯ เมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างนั้นสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการวัด คณะศรัทธา และผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะปรึกษาหารือเตรียมการจัดงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองและถวายสิ่งก่อสร้างนั้นไว้ในบวรพระพุทธศาสนา
คำว่าปอยนี้ รากศัพท์เป็นภาษาพม่า ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ อธิบายว่า พอย (เมื่ออ่านให้ออกเสียงว่าปอย ดังนั้นในบทความนี้จึงขอเลือกใช้ว่าปอยเท่านั้น) คำว่า ปอย นี้มาจากคำว่าปะเว เลือนมาจากภาษาบาลีว่าปเวณี (ประเพณี) เมื่อภาษาล้านนานำมาใช้ มีความหมายว่าเป็นการจัดงานในวาระเฉลิมฉลองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำปอยนี้ยังแยกย่อยได้เป็น ปอยหลวง ปอยน้อย ปอยลูกแก้ว ปอยเข้าสังฆ์ ปอยส่างลอง ฯลฯ ดังนั้นการที่วัดสันดอนมูล (บ้านแคว) จัดงานปอยหลวงขึ้นจึงมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การเฉลิมฉลองพระเจดีย์ธาตุ สมใจนึก
พระเจดีย์ธาตุสมใจนึก เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปะเจดีย์ธาตุทั่วไปของวัดต่างๆ ของวัฒนธรรมล้านนา องค์เจดีย์มีสีทองเหลืองอร่ามงดงามมาก ฐานชั้นล่างมีรูปนักษัตรเรียงรายโดยรอบ มีฉัตรสีทองขนาดใหญ่แบบเดียวกับฉัตรที่มีอยู่ตามมุมพระธาตุเจดีย์ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ องค์เจดีย์ธาตุสมใจนึกตั้งอยู่ด้านหลังของพระวิหารใหญ่ โดยรอบเจดีย์ปักตุง หรือธงตะขาบ ตุงนี้ปักอยู่ทั่วทั้งวัด และตามถนนเป็นแนวยาวก่อนเข้าวัดสันดอนมูล ด้านหน้าพระวิหารเบื้องขวา มีการตั้งหอพระอุปคุต มีพิธีบูชาเพื่อคุ้มครองงานปอยหลวง
หอพระอุปคุตนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะวัดที่จัดงานปอยหลวงต้องสร้างหอนี้ขึ้นสำหรับตั้งเครื่องบูชา ส่วนสำคัญที่อยู่ในหอนี้คือก้อนหินขนาดเขื่อง ชาวล้านนามีความเชื่อว่าพระอุปคุตนี้คือพระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านอาศัยอยู่ในทะเล บางท่านอธิบายว่าท่านอยู่ที่สะดือทะเล พระอุปคุตมีอิทธิฤทธิ์มากจริงๆ ท่านเคยทำการปราบปรามพญามารมาก่อน ก้อนหินขนาดเขื่องที่กล่าวถึงนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แทนพระอุปคุต วิธีการอัญเชิญพระอุปคุตที่เป็นประเพณีต่อๆกันมาคือคณะศรัทธาต้องจัดขบวนแห่ไปยังแม่น้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้วัด มีชายคนหนึ่งลงไปในแม่น้ำ ดำงมเพื่อหาก้อนหิน เมื่อได้ก้อนหินแล้วจึงชูขึ้นพร้อมกับร้องถามคนที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำว่าสิ่งที่เขางมขึ้นมาได้นั้น เป็นพระอุปคุตใช่หรือไม่ คนบนฝั่งก็ร้องบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ แสดงว่าสิ่งที่งมขึ้นมาผิด ชายคนนั้นต้องดำลงไปในแม่น้ำอีก 2 3 ครั้ง จนกระทั่งคนบนฝั่งร้องบอกว่าใช่แล้ว คนที่ลงไปอยู่ในแม่น้ำจึงนำก้อนหินซึ่งเป็นสัญลักษณ์สมมุติแทนพระอุปคุต จัดวางบนพาน แล้วเข้าขบวนแห่นำไปตั้งวางในหอที่เตรียมไว้ ตั้งเครื่องบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน ปักช่อ ตั้งสัปทน ระหว่างงานมีการจัดถวายสังเวยทุกเช้าทุกเพล เมื่อจัดงานปอยหลวงเสร็จสิ้นแล้วก็ทำการแห่อัญเชิญพระอุปคุตลงแม่น้ำตามเดิม
ความยิ่งใหญ่ของงานปอยหลวงนี้ ท่านผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่ามิใช่มีบ่อยครั้งนัก นานปีหรือหลายๆ ปี จึงมีสักครั้งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีการจัดงานปอยหลวงจึงมีการบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ให้ทราบทั่วกัน บรรดาบุตรหลานของบ้านที่จัดครัวทานต่างก็มาชุมนุมกัน บ้านที่จัดเครื่องครัวทานมีการตั้งเต้นท์ จัดโต๊ะอาหารต้อนรับแขกเหรื่อ ระดมเงินทำบุญ ครัวทานมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป นอกจากบ้านที่เป็นส่วนของคณะศรัทธาแล้ว บรรดาวัดต่างๆ โดยรอบ ทั้งต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างก็จัดขบวนครัวทานสำหรับนำไปถวายและร่วมงานจำนวนมาก เฉพาะวัดที่เรียกกันว่าหัววัดนั้น ในงานปอยหลวงของวัดสันดอนมูลครั้งนี้มีจำนวนที่แจ้งล่วงหน้าถึง 251 หัววัด นอกจากวัดต่างตำบลและอำเภอแล้ว วัดที่อยู่อีกจังหวัดหนึ่งคือจังหวัดลำพูนก็ยกขบวนครัวทาานร่วมด้วยอีกหลายวัด เพราะวัดสันดอนมูลอยู่ในพื้นที่ชายแดนของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่มีเขตต่อเขตกับจังหวัดลำพูน ผมขออธิบายเกี่ยวกับคำว่าหัววัดเพิ่มเติมเพราะคำว่าหัววัดนี้ในวัฒนธรรมของชาวล้านนามีความผูกพันกับการบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ละวัดจึงมีคณะศรัทธารวมกลุ่มบุคคลที่เป็นพุทธศาสนิกชนเพื่อทำหน้าที่ดูแลและอุปถัมภ์วัด ถือเป็นความสำคัญอันดับแรกๆ กรณีที่มีบุคคลที่เป็นคณะศรัทธาของวัดแห่งหนึ่งแล้ว แต่มีความประสงค์จะทำบุญให้แก่วัดอื่นๆ ก็สามารถกระทำได้ไม่จำกัด ในขณะที่วัดแต่ละแห่งก็สร้างเครือข่ายเป็นระบบ เชื่อมโยงความสามัคคี วัดแห่งใดแห่งหนึ่งเมื่อมีกิจกรรมงานบุญ วัดในเครือข่ายจึงนำคณะศรัทธาของตนแห่แหนไปร่วมกิจกรรมนั้นๆ ไม่ให้ขาดหายจากกัน เช่น เมื่อวัดแห่งหนึ่งจัดงานปอยหลวงก็นำครัวทานไปร่วม วัดที่จัดครัวทานนี้เรียกว่าหัววัด งานปอยหลวงจึงมีหัววัดไปร่วมงานมากมายดังพบเห็นในงานปอยหลวงของวัดสันดอนมูล
ที่บ้านของครอบครัวภักดีซึ่งเป็นคณะศรัทธาของวัดสันดอนมูลได้จัดขบวนครัวทานด้วย ผมได้รับเชิญจากว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ภักดี ให้ไปร่วมงานครั้งนี้พร้อมกับคุณกิจชัย ส่องเนตร ลักษณะของครัวทานที่ครอบครัวภักดีจัดนี้มีศัพท์ในท้องถิ่นเรียกว่าครัวทานหัวบ้าน โดยความหมายก็คือเป็นครัวทานของชาวบ้านที่ร่วมกันจัดขึ้นเฉพาะส่วน นอกจากร่วมทำบุญเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครัวทานแล้ว ผมได้รับประทานอาหารพื้นบ้านที่เจ้าภาพจัดเลี้ยง ผมได้มีโอกาสศึกษาการตั้งเครื่องบูชาท้าวจตุโลกบาลที่บ้านงานแห่งนี้ด้วย การตั้งเครื่องบูชานี้ชาวบ้านเรียกว่า ต๊าวตังสี่ หรือท้าวทังสี่ (ไม่เรียกว่าท้าวทั้งสี่) ต๊าวตังสี่ท่านเป็นเทพรวม 4 องค์ ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์ตามทิศทั้งสี่ทิศรอบเขาพระสุเมรุ ประกอบด้วย
ทิศเหนือ มีท้าวเวสสุวรรณ บางแห่งเรียกว่าท้าวกุเวรหรือไพสรพณ์ ทำหน้าที่ดูแลรักษา
ทิศตะวันออก มีท้าวธตรฐะ ทำหน้าที่ดูแลรักษา
ทิศใต้ มีท้าววิรุฬหกะ ทำหน้าดูแลที่รักษา
ทิศตะวันตก มีท้าววิรูปักขะ ทำหน้าที่ดูแลรักษา
ท้าวจตุโลกบาลหรือท้าวทังสี่มีพระอินทราธิราชเป็นประธาน มีธรรมเนียมของชาวล้านนาถือปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า เมื่อมีการจัดงานมงคลทั้งหลาย ต้องทำพิธีขึ้นท้าวทังสี่ เสมอ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวชนาค งานปอย ฯลฯ การบูชานี้มีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเป็นการอัญเชิญท่านมาป้องกันภยันตรายทั้งปวง
การทำเครื่องสังเวยท้าวจตุโลกบาลที่บ้านภักดีจัดทำขึ้น มีการตั้งเสาขึ้น 5 ต้น ต้นกลางสูงกว่าต้นทั้ง 4 มีกระทงเครื่องบูชา 6 กระทง ตรวจสอบข้อมูลแล้วทราบว่า เครื่องบูชาจัดไว้อย่างละ 4 หมายความว่าใน 1 กระทง ประกอบด้วย ข้าว 4 คำ อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ 4 ชิ้น แกง 4 ที่ ดอกไม้ ธูป เทียน 4 ชุด ฯลฯ มีช่อตกแต่ง ช่อนี้ก็คือธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก มีเสาไม้ขนาดเล็กสำหรับติดช่อ แต่ละกระทงละมีช่อ 4 อัน ช่อแต่ละกระทงใช้สีแตกต่างกันไป คือ ช่อสีเขียวสำหรับพระอินทร์ ช่อสีขาวสำหรับท้าวธตรฐะ ช่อสีเหลืองสำหรับท้าววิรูฬหกะ ช่อสีแดงสำหรับท้าววิรูปักขะ ช่อสีดำ สำหรับท้าวกุเวร ส่วนนางธรณีใช้ช่อสีขาว เมื่อพิจารณาส่วนต่างๆ ที่ผมกล่าวมานี้ จำนวนเครื่องบูชาจึงปรากฏว่ามี 6 กระทง ขอขยายอธิบายว่าเสา 4 ต้นนั้น ปักตั้งตามทิศทั้งสี่สำหรับบูชาท้าวจตุโลกบาล เสากลางมีส่วนสูงกว่าเป็นเสาที่จัดตั้งเครื่องสำหรับบูชาพระอินทราชาธิราช ตรงกลางกระทงทำฉัตรขนาดจิ๋วสีเขียวปักกลางกระทง ที่ด้านล่างของเสากลางเป็นกระทงที่วางอยู่บนพื้นดินสำหรับบูชานางธรณี
วันสำคัญของงานปอยหลวงคือวันสุดท้ายของงาน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2548 ตอนกลางวันที่วัดมีการจัดอาหารเลี้ยงชาวบ้านที่ไปร่วมงานอย่างทั่วถึง ในความเป็นจริงแล้วมีอาหารเลี้ยงรับรองทั้งมื้อกลางวันและมื้อเย็นตลอดงาน มุมหนึ่งของวัดมีการแสดงลิเก วงดนตรีที่บรรเลงประกอบการแสดงมีเพียงระนาดเอก 1 ราง กลองและฉิ่ง ร้องและดำเนินเรื่องอย่างลิเกภาคกลาง มีความแตกต่างที่การเจรจาดำเนินเรื่องของตัวแสดงใช้ภาษาถิ่นที่เป็นคำเมือง ให้สีสันและเสน่ห์พื้นบ้านเพราะสามารถสื่อกับชาวบ้านได้อย่างสนิทสนม ช่วยให้ศิลปะการแสดงประเภทนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านอย่างมาก
ที่เต็นท์ด้านหน้าวิหารใหญ่ มีวงตึ่งโนงนั่งบรรเลงอยู่ มีฆ้อง 5 ใบ แขวนกับคานไม้ มีตะหลดปด 1 ใบ กลองแอว 1 ใบ สว่าขนาดใหญ่ 1 คู่ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องดนตรีหลักที่พบเห็นทั่วไปในวัฒนธรรมดนตรีล้านนา บางท้องถิ่นเรียกชื่อวงตึ่งโนงนี้แตกต่างกันไป เช่นในจังหวัดลำปางเรียกว่าวงต๊กเส้ง หากวิเคราะห์ตามการเรียกชื่อเป็นแนว ทั้งตึ่งโนงและต๊กเส้ง ใช้ชื่อเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นจากการบรรเลงเครื่องดนตรีในวง คือ เสียงตึ่ง กลองแอว โนง ฆ้อง ต๊ก ตะหลดปด เส้ง สว่า ชื่อของวงดนตรีทั้งสองมิได้สร้างความแปลกแยกของคนในสังคมล้านนา เพราะความหมายที่ฝากแฝงไว้ในวงดนตรีชนิดนี้อยู่ที่การสื่อเสียงแสดงความชื่นชมยินดี ปิติกับการประกอบบุญของชาวบ้าน วงตึ่งโนงของวัดสันดอนมูลประโคมเป็นระยะตลอดงาน ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีข้อจำกัดว่าเสียงประชาสัมพันธ์ของทางวัดกำลังดำเนินอยู่ หรือมีเสียงของวงดนตรีที่ทางวัดเปิดเทปเสียง หรือเสียงลักษณะอื่นๆ ที่ดังแทรกเข้ามา ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน
ด้านหน้าของวัดสันดอนมูลมีผามตั้งวงปี่พาทย์พื้นบ้านล้านนาที่เรียกว่าวงป้าดฆ้อง ชาวบ้านออกเสียงว่าป้อดก๋อง ผามอื่นๆ ภายในวัดมีผามที่จัดสำหรับการแสดงพื้นบ้าน ผามสำหรับวงดนตรีแนวดนตรีสากล คำว่าผามนี้คือเวทีแสดงยกพื้น ขนาดใหญ่ เล็ก กว้าง ยาว ตามความเหมาะสมของการแสดง วงป้าดฆ้องนี้เป็นวงดนตรีที่นิยมจัดหาไปบรรเลงในงานปอย และงานประจำปีทั่วไปเช่นเดียวกับวงตึ่งโนง ในงานปอยหลวงนี้คณะป้าดฆ้องชื่อสหายศิลป์ เป็นคณะดนตรีจากบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหนองแฝก ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นั่งบรรเลงอยู่บนผาม ในปี พ.ศ. นี้วงป้าดฆ้องซึ่งศิลปินเรียกตัวเองว่าคณะแห่พื้นเมืองประยุกต์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอแตกต่างไปจากเมื่อครั้งอดีต เพราะการประสมวงดนตรีของวงป้าดฆ้อง ประกอบด้วย แน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเมือง เต่งทึง สิ้ง และสว่า ขยายความเพิ่มเติมก็คือ แนคือปี่ ฆ้องวงเมืองมีลักษณะอย่างฆ้องวงใหญ่ แต่ขอบฉัตรสั้นกว่า เป็นฆ้องแบบฆ้องพม่าแต่ทำวงฆ้องอย่างฆ้องไทย เต่งทึงมีลักษณะเช่นเดียวกับตะโพนมอญ สิ้งคือฉิ่ง ส่วนสว่าคือฉาบใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือการนำเครื่องดนตรีสากลจำนวนมากเข้ามาประสมวงบรรเลง เช่น กลองชุด อิเล็กโทน กีตาร์ เครื่องเสียงขนาดใหญ่ เพลงที่นำมาบรรเลงมีทั้งเพลงพื้นบ้านและเพลงสากลทั่วไป การฟังเพลงของวงป้าดฆ้องในงานมิได้ช่วยให้ได้รับอรรถรสบทเพลงใดๆ นัก เพราะวงป้าดฆ้องมิได้ทำหน้าที่ดังกล่าวเพื่อการฟัง แต่ทำหน้าที่ประโคมงานมากกว่า
เวลาเย็นช่วงแดดร่มลมตก ร้านค้าที่ตั้งรายรอบวัดเริ่มมีผู้คนทยอยเข้าไปอุดหนุน เจ้าหน้าที่ของอบต. และอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาประจำตามแนวถนนหน้าวัด เพื่อช่วยกันจัดระเบียบของขบวนครัวทาน มีทางเข้าวัด 2 ทาง ด้านหนึ่งที่มีวงป้าดฆ้องและวงตึ่งโนงกำหนดให้เป็นทางเข้า และเดินออกอีกด้านหนึ่ง ขบวนครัวทานของหัววัด ขบวนครัวทานของหัวบ้านแต่ละแห่งเริ่มทยอยเคลื่อนขบวนเข้าสู่บริเวณงาน ครัวทานรูปทรงต่างๆ ทั้งแบบต้นเทียน แบบบังแสง หรือการตกแต่งเป็นช่อชั้น ตามที่เห็นว่างามได้สร้างความหลากหลายและสวยงาม ตัวครัวทานนั้นติดหรือปักธนบัตรราคาต่างๆ เหมือนกองผ้าป่า มีความแตกต่างที่การตกแต่งรูปทรง ขบวนครัวทานบางขบวนสั้นๆ เรียบง่าย มีผู้ชายสูงอายุแต่งกายเรียบร้อย บางคนแต่งชุดขาว ถือพานนำ บางขบวนมีวงกลองยาวที่ชาวบ้านเรียกว่าวงกลองสิ้งหม้องตีนำขบวน พร้อมๆ กับการรำหน้าขบวน บางขบวนมีวงกลองมองเซิง อย่างครัวทานของครอบครัวภักดี ก่อนออกจากบ้านงาน มีการเชิญครัวทาน จัดวางตำแหน่งคนถือจตุปัจจัย และเครื่องบูชา มีพระสงฆ์ จากขบวนวัดล่ามช้างมาสมทบ วงกลองมองเซิงประกอบด้วยกลองมองเซิง ฆ้องชุด และฆ้องเดี่ยว สว่า ประโคมสักช่วงระยะหนึ่ง เมื่อได้เวลาจึงเคลื่อนออกจากบ้าน เคลื่อนไปยังวัดสันดอนมูล ได้บรรยากาศมากและเป็นหนึ่งในขบวนแห่ที่ยังคงความเป็นศิลปะพื้นบ้านไว้อย่างสมบูรณ์ เพราะไม่มีเครื่องดนตรีนอกวัฒนธรรมเจือเข้าไปเหมือนกับขบวนอื่นๆ อีกหลายขบวน
ชาวบ้านอธิบายให้ฟังว่าในสมัยก่อนนั้นเมื่อทราบว่าจะมีงานปอยหลวง ตามวัด หรือตามบ้านที่สามารถรวบรวมหญิงสาวได้ จะมีการฝึกซ้อมการฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนแห่นำขบวนครัวทาน มีวงตึ่งโน่งบรรเลงนำ ขบวนครัวทานจากหัววัดหลายวัดมีคณะศรัทธาจำนวนมากแห่แหนกัน มีรถบรรทุกเครื่องเสียงขนาดใหญ่ เสียงกระหึ่มดังผสมกับเสียงร้องเพลงสมัยนิยม หนุ่มๆ สาวๆ ร้องรำหน้าขบวนอย่างสนุกสนาน ทยอยเข้างานตั้งแต่ยามเย็นไปจนค่ำ ยิ่งค่ำยิ่งมืดเสียงอึกทึกยิ่งดังและดังจนไม่สามารถพูดคุยกันรู้เรื่อง เพราะจำนวนเครื่องเสียงมีหลายสิบคันรถ บางขบวนตกแต่งแสงสีเจิดจ้า ไฟหมุนไฟกระพริบแบบดิสโก้เธ็ค ช่วงนี้เสียงประโคมของวงตึ่งโนง วงกลองมองเซิง วงกลองสิ้งหม้องลดหายและถูกกลืนไปในเสียงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยกเว้นวงป้าดฆ้องคณะสหายศิลป์ที่ยังมีความดังสามารถสู้กับเสียงจากขบวนศรัทธาครัวทานหัววัดได้ เพราะมีเครื่องดนตรีไฟฟ้าและเครื่องไฟฟ้าที่เสมอกัน
พิธีการสำคัญของงานปอยหลวงอยู่ที่คณะศรัทธาของหัววัดและคณะศรัทธาของหัวบ้านนำครัวทานและจตุปัจจัยไปถวายพระสงฆ์ที่ทางวัดจัดเต็นท์รอรับไว้ มีการถวายทาน พระให้ศีลให้พร เสร็จก็ถือเป็นการเสร็จกิจกรรมครัวทาน ส่วนขบวนยังคงอยู่หรือเดินทางกลับก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงอยู่ประโคมร่วมงาน มีขบวนครัวทานของหัววัด 251 หัววัด และจากคณะศรัทธาหัวบ้านอีกไม่ทราบจำนวน ดังนั้นตลอดช่วงต้นของค่ำคืนของงานบุญจึงเต็มไปด้วยขบวนครัวทานที่ทยอยเข้าสู่งานจนแน่นหนาไปด้วยญาติโยมพุทธศาสนิกชนและผู้ไปเที่ยวงาน
ดนตรีในงานปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล (บ้านแคว) ครั้งนี้ เสียงประโคมจากวงดนตรีได้ทำหน้าที่เป็นสื่อให้กิจกรรมดำเนินไปด้วยความรื่นรมย์ในการบุญ บทบาทหน้าที่ของดนตรีแสดงออกตามช่วงเวลาของกิจกรรม โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นดนตรีประโคมงาน อรรถรสที่สัมผัสได้คือ วงตึ่งโนงที่ประโคมในช่วงเช้าไปจรดบ่ายจนเมื่อช่วงหลังของยามบ่ายจึงมีขบวนครัวทานจากหัววัดอื่นๆ ที่นำเสียงเพลงจากเครื่องเสียงมาเปิดกลบเสียงวงตึ่งโนง วงดนตรีที่ให้อรรถสของเสียงอีกวงหนึ่งคือวงกลองมองเซิงที่บรรเลงนำขบวนครัวทานจากบ้านไปสู่บริเวณงาน ระหว่างทางไม่มีเสียงอื่นแทรกจึงทำให้ทั่วท้องถนนที่ปกครึ้มไปด้วยสวนลำไยซึ่งกำลังออกดอกสะพรั่ง วงกลองมองเซิงจึงสร้างความงามของเสียง เสริมสร้างเสน่ห์ทางศิลปะดนตรีล้านนาจนยากต่อการลบลืม จนอยากกู่บอกชาวล้านนาว่านี่คือคุณค่าแท้จริงของดนตรีล้านนา.
ข้อมูลอ้างอิง
ณรงค์ สมิทธิธรรม. วันที่ 7 มีนาคม 2548. ข้อมูลสนทนา. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
นิรันดร์ ภักดี. วันที่ 6 7 มีนาคม 2548. ข้อมูลสนทนา. ที่บ้านในแคว ตำบลท่าข้าม อำเภอ
สารภี และที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
ไพรินทร์ ณ วรรณา. วันที่ 6 มีนาคม 2548. ข้อมูลสนทนา. ที่บ้านในแคว ตำบลท่าข้าม อำเภอ
สารภี จังหวัดเชียงใหม่.
มังกร สระศรี. วันที่ 6 มีนาคม 2548. ข้อมูลสนทนา. ที่บ้านดำรงนิเวศน์ อำเภอเมืองเชียงใหม่.
มานพ ภักดี และสมาชิกครอบครัวภักดี. วันที่ 6 มีนาคม 2548. ข้อมูลสนทนา. ที่บ้านในแควและ
ที่วัดสันดอนมูล. ตำบลท่าข้าม อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาค
เหนือ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด.
ประสิทธิ์ เลียวสิริพงษ์. วันที่ 7 มีนาคม 2548. ข้อมูลเสวนาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.
วิเทพ กันธิมา. วันที่ 6 มีนาคม 2548. ข้อมูลการสนทนา. ที่บ้านเลขที่ 123 บ้านน้ำโท้ง ตำบล
สบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่.
ศิลปินดนตรีพื้นบ้านในงานปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล. วันที่ 6 มีนาคม 2548. ข้อมูลสนทนา.
-----------------------------------------