ดนตรีชนเผ่าที่เซกอง ประเทศลาว
รศ. ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์
การศึกษาดนตรีภาคสนาม เป็นการแสวงหาความรู้ในเชิงวิจัยลักษณะหนึ่งที่ต้องใช้ระเบียบวิธีอย่างมีระบบ นักมานุษยดนตรีวิทยาทุกคนมีความตื่นเต้นในการเรียนรู้ข้อมูลจากโจทย์ที่ท้าทาย คือจากความไม่รู้ชัดไปสู่ความรู้แจ้งแทงตลอด เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญของความเป็นคำตอบทั้งด้านสารัตถะดนตรีและบริบทที่อธิบายบทบาทหน้าที่ของดนตรีต่อจิตใจมนุษย์และต่อสังคมและวัฒนธรรม ณ แห่งที่ไปศึกษาค้นคว้านั้น
ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งใช้อักษรย่อว่า สปป. ลาว เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ สำหรับคนไทยโดยทั่วไปแล้วชื่อเรียกประเทศลาวก็สามารถสื่อความเข้าใจได้ ในบทความนี้จึงขอใช้ชื่อเรียกว่าประเทศลาวเพียงชื่อเดียว ดินแดนประเทศลาวเป็นถิ่นของผู้คนที่เต็มไปด้วยความจริงใจ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย และต้อนรับผู้ไปเยือนด้วยไมตรีเสมอ ดังนั้นเมื่อคณะนักวิจัยสนามจากหลักสูตรสาขาวิชาดนตรี แขนงวิชาดนตรีวิทยา รุ่นที่ 10 ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 15 คน ประกอบด้วยวิทยากรชาวลาว 1 คน อาจารย์ประจำหลักสูตร 4 คน และนักศึกษา 10 คน เดินทางเข้าสู่ประเทศลาวทางด่านช่องเม็ก เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2548 ทุกคนได้มุ่งสู่แขวงเซกองด้วยรถสองแถวที่จ้างเหมาไว้ล่วงหน้าจนถึงปลายทางที่กำหนดไว้
แขวงเซกอง (Xekong) เป็นดินแดนแห่งความเชื่อ และมีการประพฤติปฏิบัติตามฮีตต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ เช่นงานบุญปวายวีล หรือที่เรียกว่าประเพณีแปงฮีตกินควาย กล่าวอย่างง่ายๆ คืองานฆ่าควายกินบุญ ความหมายและเป้าหมายของฮีตนี้เชื่อว่าเป็นการเอื้ออำนวยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นความสำคัญของการดำเนินชีวิตของชาวชนเผ่า ฮีตนี้จึงปรากฏอยู่กับชนเผ่าหลายเผ่า เช่น เผ่ากะลึม เผ่ากะตู ฯลฯ ส่วนระยะเวลาที่ประกอบพิธีนี้อยู่ในช่วงปลายเดือนสามหรือต้นเดือนสี่ของปี งานประเพณีแปงฮีตกินควายนี้ไม่เพียงนักมานุษยดนตรีวิทยาที่สนใจดนตรี หรือเสียงต่างๆ ที่ประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานพิธีเท่านั้น แต่บรรดานักมานุษยวิทยาหรือนักวิจัยแขนงอื่นๆ ต่างก็มีความสนใจและรอการศึกษาค้นคว้าเช่นกัน
ประเทศลาวแบ่งเขตพื้นที่การปกครองออกเป็น 18 แขวง แขวงเซกองเป็นแขวงหนึ่งในจำนวนนั้น แขวงนี้อยู่ทางทิศใต้ของประเทศ กลุ่มเดียวกับแขวงสาละวัน จำปาสัก และอัตตะปือ เมื่อดูแผนที่แล้วแขวงเซกองไม่มีดินแดนติดต่อกับประเทศไทยแต่แนวด้านตะวันออกมีเขตติดต่อกับประเทศเวียดนาม แต่เดิมก่อนการปฏิวัติระบอบการปกครองแขวงเซกองขึ้นอยู่กับหน่วยปกครองของแขวงสาละวัน มีการแยกและรวมกับไปกลับมาหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) จึงแยกเป็นแขวงปกครองโดยตรง เรียกชื่อแขวงตามชื่อแม่น้ำเซกองว่าแขวงเซกอง ส่วนย่อยของแขวงแบ่งออกเป็นเมือง 4 เมือง คือ เมืองละมาม เมืองด๊ากจึง เมืองกะลึม และเมือง ท่าแตง มีชนเผ่า 13 เผ่า คือ กะตู ตะเลียง ตะโอ๊ย แยะฮ์ อะลัก เกรียง(แงะ) ด๊ากกัง กะเซง ตะรีว ละเวน จะต็อง ละวี (ซะเวิง) และส่วย
ชื่อเรียกของชนเผ่านี้ บางชื่อเรียกตามคนนอกวัฒนธรรมกำหนด เช่น ชนเผ่าอะลัก บางแห่งเรียกว่าฮาลัก ในขณะที่ชาวชนเผ่าออกเสียงว่าฮารลัก โดยมีเสียงตัว ร ดักแทรกอยู่ หรืออีกเผ่าหนึ่งคือชนเผ่าแงะ ชื่อนี้เรียกตามฝรั่งที่เข้าไปศึกษาและไม่ทราบว่าเจ้าของวัฒนธรรมเป็นชนเผ่าเกรียง (กะเหรี่ยง ก็เรียก) ฝรั่งต้องการทราบสิ่งใดก็ถามคนของเผ่าเกรียง แต่คนของชนเผ่าเกรียงไม่เข้าใจหรือฟังไม่ออกจึงตอบคำถามฝรั่งไปว่า แงะฮ่ะ ซึ่งโดยศัพท์ของคำแงะฮ่ะมีความหมายว่าไม่รู้ ไม่ทราบ ชาวเกรียงตอบเช่นนี้ทุกครั้ง ฝรั่งก็ทึกทักเรียกชนเผ่านี้ว่าเผ่าแงะ จนกลายเป็นชื่อหนึ่งของชนเผ่านี้ไปในที่สุด
เมืองละมาม เดิมมีชื่อเรียกว่าเวียงทอง เมืองนี้มีความสำคัญมากที่สุดของแขวง เพราะเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการแขวงอยู่ที่เมืองละมาม ปัจจุบันแขวงเซกองมีประชากรประมาณ 82,000 คน มีท่านบัวเลย จั่นลังคำ เป็นเจ้าแขวงเซกอง คณะนักวิจัยสนามได้มีโอกาสเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะท่านเจ้าแขวง ได้รับฟังคำบรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวเซกอง ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม เช่น การปลูกกาแฟ ไม้กฤษณา อาชีพเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู แพะ และสัตว์ปีก ฯลฯ อีกอาชีพหนึ่งที่ยังดำเนินอยู่คือการส่งออกไม้ ซึ่งในแต่ละปีทำรายได้ให้กับแขวงจำนวนไม่น้อย
ด้านการดนตรี ท่านบัวเลย จั่นลังคำ อธิบายให้ฟังบรรดานักวิจัยสนามฟังว่าบรรดาชนเผ่าของเซกองมีดนตรีเป็นของตนเอง ทั้งปี่ ซอ ขลุ่ย และเพลงร้อง ดนตรีเหล่านี้ชาวชนเผ่าใช้สื่อสารกันในสังคมของตนเอง ที่ซ้ำเหมือนกันบ้างก็มี บางพื้นที่มีการรำที่เรียกว่ารำสีพันดอน รำสาละวัน รำตังหวาย เป่าแคน ปรบมือ และอื่นๆ อาจมีความแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นของแต่ละชนเผ่า
การศึกษาดนตรีชนเผ่าที่เซกอง มีเจ้าหน้าที่ของลาวของแขวงเซกองทำหน้าที่ติดต่อกับศิลปิน คือ นางบุญเพ็ง บัวละภา ชาวเผ่าตะเลียง ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกแถลงข่าวและวัฒนธรรมแขวง และนายสิวิไล จันทะวงศ์ ชาวลาวลุ่ม เป็นเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมของแขวงเซกอง โดยมีอาจารย์สมจิตร ไสสุวรรณ จากกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ที่นครหลวงเวียงจัน ประสานเชื่อมโยงเครือข่ายของระบบงาน การลงพื้นที่ศึกษาดนตรีกำหนดไว้ 2 วัน จำนวน 2 ชนเผ่า คือเผ่ากะตู และชนเผ่าตะเลียง
วันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2548 เข้าศึกษาดนตรีของชนเผ่ากะตูที่บ้านกันดอน อยู่ใน เขตท่าแตง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองท่าแตง ตามเส้นทางสายปากเซ อัตตะปือ ราวหลักกิโลเมตรที่ 118 ชนเผ่านี้เป็นเผ่าที่ตั้งชุมชนขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) โดยทางการโยกย้ายชาวเผ่ากะตูจากพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะชาวเผ่ากะตูที่อยู่ในเมืองกะลึม บางครอบครัวต้องใช้วิธีเดินเท้า อย่างไรก็ตาม ณ บ้านกันดอนในวันที่คณะได้เข้าไปสู่พื้นที่ ได้พบว่าหมู่บ้านแห่งนี้จัดวางแนวของบ้านแต่ละหมู่อย่างเป็นระเบียบ ทั้งถนนหลักของหมู่บ้าน ถนนรอง บ่อน้ำ ส้วม แปลงยกพื้นปลูกผักสวนครัว พื้นที่สำหรับตีเหล็กทำมีด อุปกรณ์การกสิกรรม เขตที่ตั้งของโรงเรียนประถมสมบูรณ์บ้านกันดอน ฯลฯ มีกลุ่มบ้านที่เรียกว่าหน่วยหรือคุ้ม จำนวน 3 คุ้ม 85 เรือน จำนวนประชากร 975 คน มีนายวีพัด แสงมณี ชื่อเดิมในภาษากะตูว่านายเฟื้อน วัย 51 ปี เป็นนายบ้าน
นายวีพัด แสงมณี ได้มอบหมายให้ศิลปินกะตู จัดรายการแสดงและดนตรีให้คณะนักวิจัยสนามได้ศึกษา 10 ชุด ดังนี้
1. ฟ้อนง้าว ที่ใช้ในการทำบุญของเผ่า
2. ฟ้อนแคน
3. ฟ้อนแคนแบบหอมแก้ม
4. ฟ้อนง้าว จังหวะการต่อสู้
5. ลำปะน้อยร์ เพื่อแสดงความรัก
6. การสีซอปาก เพื่อสื่อสารเสียงดนตรีออกมาเป็นคำพูด
7. การเป่าบั้งปี่ หรือที่เรียกว่าบั้งบอก
8. การเป่าบั้งป้อง
9. การตีระนาดขา โดยศิลปินตั้งเรียงลูกระนาดที่ทำด้วยไม้แก่นบนหน้าตัก
10. รำวงสามัคคี ร้องเพลงฉลองเอกราชประกอบกับเพลงรำวงทั่วไป
ภายหลังจากการนำเสนอศิลปะการฟ้อนรำ ดนตรี และการรำวงของศิลปินชาวกะ ตูแล้ว บรรดาศิลปินจึงเชื้อเชิญคณะวิจัยสนามและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแถลงข่าวร่วมรำวงกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ จนสิ้นสุดกิจกรรมที่กำหนดไว้ จากนั้นคณะวิจัยได้แบ่งกลุ่มทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไปประสานกับนายบ้าน เพื่อศึกษาข้อมูลด้านสังคมและวัฒนธรรมทั่วไป อีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่บันทึกเสียงเพลงต่างๆ เพื่อซ่อมข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์
วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2548 เป็นการปฏิบัติงานศึกษาดนตรีในพื้นที่ของเมืองละมาม อยู่ในเส้นทางเดียวกับการไปบ้านกันดอนของชนเผ่ากะตู แต่ใกล้กว่ากันคืออยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 48 หมู่บ้านของชนเผ่าตะเลียงมีชื่อเรียกว่าบ้านโนนหนองหว้า หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ติดกับถนนใหญ่ มีนายบุญฮอง ใจประสงค์ เป็นนายบ้าน ในการต้อนรับของหมู่บ้านแห่งนี้มีผู้เฒ่าวัย 84 ปี ชื่อนายคำม้อง แสงนุวาย ในอดีตท่านเคยศึกษาที่ฮานอย 3 ปี เป็นอดีตนักปฏิวัติลาว และ เคยดำรงตำแหน่งพ่อเมืองด๊ากจึงมาก่อน ภายหลังจากการเกษียณอายุแล้วจึงกลับมาอยู่กับบุตรหลานที่บ้านแห่งนี้
ข้อมูลดนตรีและศิลปะการแสดงของชนเผ่าตะเลียงที่คณะวิจัยสนามทำการศึกษา มี 10 ชุด ดังนี้
1. การเป่ากะบั้ง ที่เรียกว่าปราตุ๊ส 6 คน
2. ตีกลองลา 3 คน การตีกลองลานี้ใช้ในพิธีงานบุญ มีการขับร้องประกอบด้วย
3. ฟ้อนเด๊อ เป็ญ 6 คน นักแสดงคนหนึ่งถือกระดิ่ง สั่นไปตามจังหวะ
4. รำเดี่ยวหญิง เพื่อแสดงความผูกพันและให้ความหวังให้แก่ผู้ที่จะจากไปศึกษาเล่าเรียน
5. รำปะดำ ดีงๆ เป็นการแสดงเพื่อปลุกใจทหาร
6. การขับร้องเพลงร้องหมู่ที่เรียกว่า จูรึม
7. การตบกระบั้งบึงบึ ขนาดยาว มีผู้แสดง 3 คน
8. ญะ ลำผู้เฒ่าผู้แก่ และให้พรด้วยภาษาตะเลียงแก่ลูกหลาน ในตอนท้ายได้เชื้อเชิญนักวิจัยสนามผู้ใหญ่ ให้เข้าร่วมวงด้วย
9. การขับร้องเพลงหมู่ ซึ่งจัดตามที่ได้ตระเตรียมไว้ต้อนรับ
10. การขับร้องเพลงหมู่นอกรายการ
การขับร้องเพลงหมู่นอกรายการนี้ คณะนักวิจัยได้เชิญให้เด็กชาวตะเลียงเข้าร่วม ขับร้องเพลงชาติลาว เพลงปฏิวัติ เพลงยอดนิยม และเพลงอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถร่วมร้อง จำนวนหลายเพลง โดยมีอาจารย์สมจิตร ไสสุวรรณทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวง สร้างความประทับใจให้แก่ทุกคนในบรรยากาศของวันนั้น หลังจากนั้นจึงรับประทานอาหารกลางวัน เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวเผ่าตะเลียง และเป็นรายการสุดท้ายในวันนั้น
นอกเหนือจากการศึกษาดนตรีชนเผ่ากะตูและชนเผ่าตะเลียงแล้ว ยังมีศิลปินลาวที่อยู่ในแขวงเซกอง และเคยไปแสดงในงานแสดงดนตรีชนเผ่าที่แขวงสาละวันเมื่อปีก่อน ได้รู้จักสัมพันธ์กับอาจารย์สนอง คลังพระศรี และอาจารย์อานันท์ นาคคง ได้มาพบปะเยี่ยมยามและบันทึกเพลงแคนโดยใช้สถานที่ในห้องทำงานของแผนกแถลงข่าวและวัฒนธรรม แขวงเซกอง เป็นที่ปฏิบัติงาน สำหรับรายละเอียดของข้อมูลงานดนตรีภาคสนาม แขวงเซกอง ประเทศลาว ครั้งนี้ ยังมีอีกหลายแง่มุม ทั้งด้านระเบียบวิธีการศึกษางานภาคสนาม ด้านเนื้องานดนตรี ด้านการบันทึกข้อมูลเสียง ลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรี ซึ่งคณะวิจัยสนามจะได้นำเสนอข้อมูลเหล่านั้นเรียบเรียงเผยแพร่ต่อสังคมต่อไป.