นัยดนตรีสร้างส่วนสัมพันธ์ของจิตให้สัมบูรณ์
รศ.ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์
ดนตรี เป็นความมหัศจรรย์สากลของมนุษย์ที่สร้างสรรค์ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อปรุงแต่งจิตวิญญาณของตนให้เอิบอิ่ม ดนตรีเริ่มต้นจากความฉงนในความแตกต่างหลากหลายของเสียงที่ธรรมชาติให้มา มนุษย์กลุ่มแรกๆ ได้พบความมหัศจรรย์ และไม่ทราบว่าทำไมจึงเกิดเสียงขึ้น ทำไมเสียงจึงต้องดังมากสุดสุด ดังมากมาก ดังดัง ดังแผ่วแผ่ว ดังแล้วแผ่ว แผ่วแล้วดัง ดังขึ้นเองตามปรากฏการณ์ของธรรมชาติ และดังเมื่อมนุษย์กระทำให้ดัง ในที่สุดมนุษย์ก็ตั้งสมมุติฐานว่าผู้ทรงอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นผู้สร้างเสียงขึ้น เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งขึ้น มนุษย์จึงสร้างทฤษฎีเพื่อใช้อธิบายสิ่งที่เป็นมหัศจรรย์สากลนั้น
ทฤษฎีในความคิดของมนุษย์ก็คือ เมื่อผู้ทรงอำนาจเหนือธรรมชาติสร้างเสียงขึ้นแล้ว ท่านก็ส่งผ่านไปยังจักรวาล จากจักรวาลส่งต่อมายังถิ่นฐานอันกว้างใหญ่ แผ่ไกลไปทุกแห่งหน เป็นอนุปรมาณูสภาวะที่สิ่งมีชีวิตไม่อาจสัมผัสได้ จนกระทั่งเป็นอภิมหากัมปนาทยากยิ่งต่อการสัมผัส เสียงของทฤษฎีในความคิดนี้จึงเป็นสิ่งที่มีและไม่มี เหมือนมีน้ำและมีอากาศ เหมือนไม่มีน้ำและไม่มีอากาศ มีว่างไม่มีว่าง เป็นทฤษฎีของช่องว่างและความเต็ม อำนาจเหนือธรรมชาติให้มาแล้วก็ทำลาย ทำลายแล้วก็ให้มาอีก ให้มากให้น้อย ให้ครบให้ขาด ให้เพราะความร้ายและให้เพราะความเมตตา หมุนเปลี่ยนเวียนจรเช่นนี้ ความมหัศจรรย์นั้นจึงไม่อาจพบคำตอบได้อย่างทันทีทันใด มนุษย์กลุ่มแรกๆ ของชุมชนในวัฒนธรรมหนึ่งๆ จึงสั่งสมความรู้ความคิดที่ได้รับจากสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะเดียวกันสิ่งที่เรียกว่าภูมิปัญญาของมนุษย์ที่เกิดมีขึ้นก็ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นตำราเรียนที่มีหน้าว่างไว้สำหรับจดบันทึกเพิ่มเติมต่อเนื่องกันต่อๆ จนความจริงในจินตนาการเริ่มถักทอและปรากฏขึ้น
เสียงตามความจริงในจินตนาการ ควรเริ่มต้นด้วยการตั้งตามคำถามวิจัยว่า เสียงนั้นมีนัยต่อผู้ทรงอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างไร เสียงลักษณะใดมีผลต่อสรรพชีวิตในโลก มีวิธีการใดบ้างที่มนุษย์ในฐานะของสิ่งมีชีวิตจะสำแดงซึ่งปฏิสัมพันธ์ต่อผู้ทรงอำนาจเหนือธรรมชาติได้ คำโตเชิงปรัชญาจึงเป็นคำถามที่ท้าทายนัก หากผลของการศึกษาสามารถนำไปสู่การค้นพบคำตอบได้จริง ผลที่ควรได้รับมากกว่านั้นย่อมคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง ชีวิตที่อยู่ในอุ้งหัตถ์ของผู้ทรงอำนาจเหนือธรรมชาติก็ควรได้รับการผ่อนปรน ได้รับการช่วยเหลือ ดูแลรักษา และให้ในสิ่งที่มนุษย์ควรได้ ได้ในสิ่งที่ได้รับ รับในสิ่งพึงปรารถนาจากคำวิงวอนร้องขอ เสียงในจินตนาการตามแนวคิดนี้เริ่มพัฒนาเข้าสู่จิตวิญญาณ ปรากฏการณ์เชิงรูปธรรมของเสียงได้สร้างส่วนสัมพันธ์กับจิตวิญญาณเชิงนามธรรมอย่างสอดคล้องกลมกลืนกันและเป็นไปตามความหมายของโลกจินตนาการ
แรกเริ่มของการนำเสียงมาสร้างส่วนสัมพันธ์ อยู่ที่การสื่อสารกับโลกจินตนาการ การเปล่งเสียงร้องพร้อมกับการตบมือ กระโดดโลดเต้น แสดงออกด้วยท่าทางและลีลามิได้กระทำเพื่อความรื่นเริงใดๆ แต่ส่วนนี้คือความกล้าหาญต่อการกระทำ เรียกร้องความสนใจ ได้ผลต่อจิตใจบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ก็เป็นความพอใจเพราะได้ทำแล้วซึ่งสิ่งที่คิดว่าต้องทำ เกิดความสุขว่าได้ทำ แม้ว่าเป็นความสุขชั่วขณะของมนุษย์ก็ตาม การค้นคว้าเรื่องเสียงของมนุษย์ดำเนินต่อไปโดยยุคสมัยของโลกดั้งเดิม เป็นการค้นคว้าเชิงคุณภาพที่ยาวนาน ขณะเดียวกันบุคคลที่เป็นเจ้าพิธีของกลุ่มชนในสังคมก็ก้าวเข้ามามีบทบาทเหมือนเพื่อคู่คิดมิตรคู่ใจ เจ้าพิธีสร้างกลไกทางสังคม สร้างบันไดความคิดเพื่อการติดต่อกับโลกจินตนาการ เกิดอาถรรพณาการที่เป็นกิจพิธีกรรม จนพัฒนาไปสู่ความเชื่อว่า ตัวตนของตนนั้นคือร่างกลางของผู้มีสายสวรรค์ อยู่ท่ามกลางระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์อันเป็นแดนของผู้ทรงอำนาจเหนือธรรมชาติ ตนและผู้มีเลือดร่วมสายเท่านั้นที่เป็นผู้ครอบครองวิธีการไปสู่อาถรรพณาการนั้นได้ นานนับหลายพันปีบนโลกดั้งเดิมที่รักษาแนวทฤษฎีนี้ไว้อย่างเชื่อมั่น เชื้อของความเชื่อได้ฝังอยู่ในจิตที่ซับซ้อนของชนทุกเผ่าพันธุ์ เชื้อความเชื่อนี้เหมือนกันด้วยเชิงทฤษฎีความคิด แต่ต่างกันด้วยความหลากหลายของขั้นตอนเชิงปฏิบัติ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของกาลเวลา ไม่มีเผ่าพันธุ์ใดที่ไม่มีจิตวิญญาณที่พัฒนาจากความเชื่อเช่นนี้ การปฏิเสธย่อมยังไว้ด้วยความรู้ขาดตอนของกลไกความคิด ที่เมื่อเริ่มคิดก็เริ่มปฏิเสธความเป็นตัวตนของรากเชื้อนามธรรมทั้งปวงนั้น
วิถีดนตรีที่เกิดจากฐานทฤษฎีความจริงในโลกจินตนาการ ปรากฏในวงวิชาการดนตรีปัจจุบันว่าเป็นดนตรีพิธีกรรม ความเป็นดนตรีพิธีกรรมมีพื้นที่สำหรับปรับปรนให้เข้ากับชีวิตและจิตวิญญาณของคนร่วมยุคสมัย เป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีและมีคุณค่า พัฒนาการของดนตรีพิธีกรรมในร่องของการปรับปรนได้สร้างความสมบูรณ์ของสิ่งที่ซ้อนอยู่ในความรู้สึกให้เกิดเป็นก้าวใหม่จนสามารถอยู่ร่วมกับทุกชีวิตได้ ความเป็นสากลของดนตรีพิธีกรรมขยายครอบคลุมความต่างของสังคมวัฒนธรรมให้ยอมรับความเป็นหนึ่งเดียวได้ มิติใหม่จึงอยู่ในแนวคิดที่ว่า ดนตรีแห่งพิธีกรรม แม้ไม่เรียกไม่ใช้ชื่อนี้ แต่บทบาทที่ดำเนินอยู่ก็ยังคงเป็นความหมายเดิมเสมอไป
ในการวิเคราะห์เชิงมานุษยวิทยาด้วยทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ทฤษฎีมานุษยวัฒนธรรมสัมพันธ์ ทฤษฎีมานุษยดนตรีวิทยา หรือทฤษฎีวัฒนธรรมอื่นๆ ต่างกล่าวถึงสภาวะของการดำรงวิถีชนที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาวะหนึ่งไปยังอีกสภาวะหนึ่ง มิได้ก้าวย่างไปตามธรรมชาติและกาลเวลาโดยยถากรรม ความเป็นจิตวิวัฒน์ของมนุษย์นี้ได้สร้างสรรค์วิธีไว้ด้วยระเบียบพิธีกรรมของรอยต่อระหว่างสภาวะนั้นๆ เป็นประกาศนียกรรมของสังคมวัฒนธรรม ความรู้สึกสมบูรณ์ในจิตวิญญาณย่อมเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น เกิดการยอมรับร่วมกัน ในสังคมดั้งเดิมของไทยหรือในสังคมที่ตั้งถิ่นฐานของดินแดนสุวรรณภูมิอันกว้างใหญ่เรียกสถานภาพจิตนี้ว่า ขวัญ การรับขวัญเมื่อแรกเกิด การปรับเปลี่ยนจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ การแต่งงาน การบวช ขึ้นบ้านใหม่ ฉลองอาคารสถานที่ การเฉลิมฉลองวันตรุษ วันชาติ การจัดงานหรือทำบุญในโอกาสคล้ายวันเกิด วันตาย วันคล้ายวันตาย สภาวะทั้งหลายต่างมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมาถึง การสร้างขวัญ บำรุงขวัญ เสริมขวัญ การหวนหาขวัญเป็นการกระทำแล้วซึ่งความสำคัญให้บังเกิดขึ้น
พิธีของประกาศนียกรรมแต่ละวิถีสังคม เป็นความสมบูรณ์ของจิต มนุษย์ได้ผ่านขั้นตอนของการกระทำที่เป็นเบื้องต้นของปรากฏการณ์ทางกายภาพ ด้วยพิธีทำขวัญเดือน พิธีโกนจุก พิธีสุหนัต สวมแหวนรับสภาพสามีภรรยา หลั่งน้ำสังข์ให้บ่าวสาว ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่เรียกกันเป็นสามัญว่าทำบุญเลี้ยงพระ ยิงปืนสลุต เดินแถวตรวจพลของกองทหารเกียรติยศ รดน้ำศพของผู้วายชนม์ ทำบุญรวมญาติ หรือที่เป็นกิจกรรมของชนชาวต่างวัฒนธรรมอื่นๆ ความสมบูรณ์ที่อยู่บนความสมบูรณ์นั้นจึงอยู่ที่ปรากฏการณ์ทางนามธรรม เป็นทิพยกรรมของจิตวิญญาณที่เรียกว่า สัมบูรณ์ คือมีความสมบูรณ์ยิ่ง เติมเต็มในส่วนที่เต็มแล้วให้เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าของความปีติยินดี ในบทบาทหน้าที่เช่นนี้ได้แสดงความเด่นชัดว่า ดนตรีคือความสัมพันธ์ที่เป็นความสัมบูรณ์นั้นโดยแท้ ดนตรีที่บรรเลงเพลงแห่งพิธีกรรม เพลงแห่งกาลปฐมฤกษ์ โห่ร้องประโคมชัย เพลงสาธยายสังคีติแห่งสัจจะนิรันดร์ ทำนองสวดอันมุ่งด้วยสาระธรรม เพลงขับร้องเพื่อกิจกรรมหรรษา ตลอดจนเพลงนานาอิฏฐารมณ์ที่เกิดจากการปรุงแต่งเสียงตามความจริงในจินตนาการ ให้เป็นเพลงเพื่อทิพยกรรมของจิตวิญญาณ เป็นความอิ่มในจิตของบุคคล และโอบอิ่มจากบุคคลที่รายรอบที่ร่วมรู้ในประกาศนียกรรมนั้น ดนตรีจึงเป็นมหัศจรรย์สากลที่มีความเป็นนัยสำคัญในการสร้างส่วนสัมพันธ์ของจิตสัมบูรณ์.