ReadyPlanet.com
dot dot
bulletHome
dot
Group Menu
dot
bulletบริการของเรา
bulletสนทนาภาษาดนตรี
bulletสินค้าของเรา
bulletนานาสาระ
dot
Newsletter

dot
bulletgoogle.com
bulletpantip.com
bulletMahidol University
bulletวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
bulletintranet.sasin.edu/thaimusicclub
bullethttps://www.facebook.com/smusichome




ทฤษฎีความสอดคล้องกับการวิจัยขั้นสูง

ทฤษฎีความสอดคล้องกับการวิจัยขั้นสูง

                                                                                                                                       

                                                                                                                                       รศ.ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์

 

          มีคำคิดที่เชิญชวนให้คิดว่า “นักวิจัยนั้นเป็นนักวิชาการที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยความสำเร็จ”  ความคิดเช่นนี้อยู่ตรงประเด็นที่ว่า  การพันธนาการคือบ่วงความประสงค์รู้ที่อยู่บนระบบคิด  การสรรสานถึงสาเหตุอันเป็นมูลแห่งปัญหา   มีการออกแบบโครงสร้างของการแสวงหาด้วยแบบแผนและกระบวนการที่วิทยาการของฝรั่งสอนไว้ว่า  ซายน์ทิฟิก  เม็ทธอด  (Scientific Method)  สิ่งนี้ท่านว่าสามารถนำไปสู่การค้นพบคำตอบที่เป็นความรู้ใหม่ได้   การหลอมรวมวิทยาเชิงเหตุผลก่อให้เกิดสัมพันธภาพของปรากฏการณ์เชิงระบบได้  เพราะเป็นมาตรฐานของวิธีทางวิทยาศาสตร์   ระเบียบวิธีการวิจัยตามแนวอธิบายนี้จึงเปรียบได้ดั่งยั่วยานของเครื่องขับเคลื่อนที่มีความเที่ยง  ความตรง  และความน่าเชื่อถือ  นับเป็นคุณสมบัติของประสิทธิภาพที่รับรู้เป็นอย่างดีในวงการวิจัย  ความกล้าที่จะนำเข้าสู่พันธนาการและการออกพ้นไปสู่ความสำเร็จที่ดีที่สุด   มีหลักทฤษฎีใดที่ปัจเจกวิจัยควรใช้เป็นตัวนำทาง

 

           ยั่วยานเป็นเครื่องนำไปที่สำคัญยิ่ง  นักวิจัยควรเริ่มต้นเมื่อไร  เริ่มต้นอย่างไร  จะคิดอย่างไร จะทำอย่างไร ปมปัญหาวิจัยหรือประเด็นวิจัย  เข้ากับคำที่ว่า  “มนกฺการ วิจยํ  ชาตํ  พนฺธนํ  ชาตํ”  มีความหมายถึง  “ความตั้งใจวิจัยเกิดขึ้นแล้ว  การจองจำอันเป็นเครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว”  มีหนทางที่สามารถช่วยได้ก็คือ  การแสวงหาปัจจัยอันเป็นวิธีหลุดพ้นจากเครื่องผูกนั้น  เป้าหมายของการหลุดพ้นมิใช่การหลีกแต่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา  เป็นช่องออกที่มีนัยสำคัญ  เพราะสิ่งนี้คือความรู้ในคำตอบของสิ่งที่เป็นปม  การบรรลุมรรคแห่งเหตุจนบังเกิดผล  นับเป็นความสำเร็จของปัจเจกวิจัย   เครื่องพันธนาการของความประสงค์รู้บนระบบคิด  จึงอยู่บนกรอบนิยามจากผลเชิงนิมานและนิเสธที่นักวิจัยเชิงปริมาณคุ้นเคยกับศัพท์ทั้งสองคำนี้เป็นอย่างดี  นิยามของผลเชิงทดลอง  นิยามของผลวิเคราะห์เชิงสังคมวัฒนธรรม  เชิงพยากรณ์  และอีกมากเชิงที่รอความสำเร็จนั้นอยู่

                       

             นักวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา  เป็นผู้พร้อมในการเข้าสู่สถานภาพว่าที่ปัจเจกวิจัย  มีว่าที่ปัจเจกวิจัยจำนวนไม่น้อยที่เพลิดเพลินกับการศึกษาระเบียบวิธีวิจัย  ท่องแสวงไปในสนามของวิทยาการ  เข้าสู่ภวังค์ของผู้รู้ผู้ตื่นผู้เห็น  ได้ยินได้ฟังวิถีวิจัย  พร้อมๆ กับความชื่นชมกับวิธีการตลอดจนค่าสถิติที่มีมากมาย  นับตั้งแต่สถิติพื้นฐานไปจนถึงความซับซ้อนของสูตรต่างๆ การศึกษาและตกตื่นเช่นนี้นับว่าดี  ตรงทางของความเป็นนักแสวงหา   การกำหนดในคำถามหนึ่ง  ในโจทย์หนึ่ง  ที่มีสมมุติฐานบนฐานของตัวแปร  เป็นความท้าทาย  เมื่อภาคการเพาะบ่มแนวคิด  วิธีการของการแสวงสูตรสิ้นสุดลง  ภาคปฏิบัติของการนำมาใช้ก็เริ่มขึ้น  ปฏิบัติการวิจัยเป็นความสนุกของปัจเจกวิจัย  การมองว่าการวิจัยขั้นสูงนั้น  คิดกันว่าต้องใช้ค่าสถิติที่มีความซับซ้อน หรือใช้วิธีหรือเครื่องมือวิจัยที่กำลังนิยมและได้ผลดีของในสังคมวัฒนธรรมหนึ่งเมื่อนำมาใช้ในอีกสังคมวัฒนธรรมหนึ่งนั้น  ไม่แน่เสมอไปว่าผลการวิจัยนั้นจะได้ผลที่ตรงกับปัญหาและการแก้ปัญหาได้   ด้วยเงื่อนไขของบริบทบนฐานข้อมูลและตัวแปรที่แตกต่างกัน   การแสดงตนหรือจุดยืนของปัจเจกวิจัยเช่นกล่าวนั้น  เพื่อบอกถึงความรู้และเข้าใจตัวแปรที่ศึกษา  การตั้งสมมุติฐานการวิจัย  เมื่อมีการใช้สถิติเพื่อกระทำกับตัวแปร 2 ตัว  3  ตัว  หรือมากกว่านั้นในการวิจัยเชิงปริมาณ    พยายามแทรกวิธีการเช่นนั้น  จนไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่แทรกซ้อน  แทรกเคียง  แทรกเสียด หรือตัวแปรผันแปรใดๆ ที่พัวพันอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย  กลายเป็นวังปัญหาที่วนเหวี่ยงไปมา  การวิจัยเชิงคุณภาพที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สถิติหรืออาจนำมาเพียงค่าสถิติพื้นฐานก็เพียงพอแล้ว หรือแม้เครื่องมือวิจัยที่เข้าสู่พื้นที่จนทำให้เกิดสภาวะชะงักสนามของวิธีการที่ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง  ใหญ่โต  ให้ได้ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่ดำเนินการได้เพียงเพื่อยืนยันว่างานวิจัยนั้นมีความยิ่งใหญ่ในเชิงวิธีการ  ปรุงคำตอบว่าหัวข้อศึกษา และวิธีการนี้คือขั้นสูงของการวิจัย  นับเป็นการหลงทางด้วยการให้ความสำคัญด้วยการมองความธรรมดาที่มีดีในงานวิจัยอื่นๆ เป็นความธรรมดาที่ธรรมดาเท่านั้น  แม้เป็นความสำเร็จแต่ส่วนเกินที่เกิดขึ้น คือความฟุ่มเฟือยของทุกสิ่งที่ประกอบเข้าไว้ด้วยกัน

           

หนวิถีสู่ทางออกจากพันธนาการไปสู่ความสำเร็จ มีหลายวิธี  วิธีหนึ่งคือการใช้ทฤษฎีความสอดคล้องกับงานวิจัย  ทฤษฎีนี้ตั้งอยู่บนความเป็นหนึ่งเดียว  มีฐานแนวคิด  3 ประการ คือ 

 

“ความสอดคล้อง คือ  ความพ้องในดุลยภาพ   ส่วนใดตอนใดที่กำหนดให้เป็นตัวตั้ง  เมื่อนำตัวต่อมากระทำร่วมกัน  มีตำแหน่งการประสานต่อสภาวะอย่างได้จังหวะ   ย่อมเกิดความสอดคล้อง ทั้งแนวลึกและแนวกว้าง ตลอดจนแนวประสานอื่นๆ  สัดส่วนของตัวตั้งและตัวต่อจึงมีความเป็นหนึ่งเดียว และมีความพ้องกันอย่างสมดุล”

ความสอดคล้อง  คือ  ความสมบูรณ์ของกระบวนการ  ช่วยให้การขับเคลื่อนของสิ่งนั้นดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยมีกรอบการขับเคลื่อนของกระบวนการครอบคลุมประเด็นทุกส่วน 

ความสอดคล้อง  มีความเป็นพลวัตสัมพันธ์  ด้วยวิถีของความพอดี  มีความสมเหตุสมผล  ต่อเนื่องจากวิธีหนึ่งสู่อีกวิธีหนึ่ง  โดยเป็นพลวัตที่จรเชื่อมกันอย่างมีสัมพันธภาพ”

 

แนวคิดตามทฤษฎีนี้  แสดงจรวัตของฐานแนวคิดทั้ง 3  ดังแผนภูมิ

 

  

แผนภูมิ  แสดงฐานแนวคิดของทฤษฎีความสอดคล้อง

 

 

 

 ความเชื่อบนฐานของความอ่อนเชิงวิจารณญาณที่นำไปสู่พันธนาการในระบบคิด  คือความเป็นตัวติดและเป็นตัวยึดมั่นจนทำให้เกิดอัตตาของปัจเจกวิจัย  สาเหตุเช่นนี้อาจเกิดขึ้นจากความรู้ใหม่ที่สร้างและสานก่อความเชื่อมั่นจนเกินขอบของความเป็นจริง  ในทางกลับกันสาเหตุอาจเกิดขึ้นจากความไม่ลึกพอ  องค์คิดขาดความสมบูรณ์ ขาดสิ่งรู้สิ่งเข้าใจในคุณสมบัติของวิธีการ เครื่องมือวิจัย ค่าสถิติ  ตลอดจนกระบวนการวิเคราะห์  ความไม่เข้าใจในความสัมบูรณ์ของระเบียบวิธีวิจัย  เป็นตัวการสำคัญ เพราะระเบียบวิธีทุกวิธีนั้นดี   มีความต่างกันของคุณสมบัติ  มีความเหมาะเฉพาะ และมีความลงตัวซึ่งกันและกัน

 

            การพ้นออกจากพันธนาการไปสู่ความสำเร็จอยู่ที่ความคิดเชิงระบบ  การนำมรรควิธี  โดยใช้แนวคิด 3 ประการของทฤษฎีความสอดคล้องมาเป็นแนวทาง   ก็จะพบว่าในความแท้นั้นความเป็นขั้นสูงของการวิจัยมิได้ขึ้นอยู่กับการเลือกระเบียบวิธีที่ไกลจากความเป็นจริง  ปัจเจกวิจัยย่อมมีการเลือกสรรระหว่างสิ่งที่คิด  ประเด็นหรือปัญหา  หรือคำถามวิจัย  มีขั้นตอนกระบวนการใดบ้าง  หากเปรียบเทียบเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ตั้งบนฐานรากจากพื้นล่างสู่ปลายยอดสูง  ดูตระหง่าน  เมื่อเข้าไปยืนแหงนมองก็ดูราวกับว่าสุดขอบฟ้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว  แต่ละส่วนประกอบต่างตรึงไว้ด้วยปริมาตรเหล็กที่มีขนาดท่อนและน้ำหนักแตกต่างกัน  ทั้งนี้เหล็กแต่ละท่อนต้องมีตำแหน่งการจัดต่อกันอย่างได้ดุลยภาพ  เหล็กชิ้นที่ใหญ่กว่า  บางตำแหน่งก็อยู่ต่ำ  บางตำแหน่งก็อยู่สูง  อยู่ข้าง  ตั้งเฉียง ได้มุมได้ฉาก  มีน็อตเป็นตัวตรึงยึด  แม้ว่าน็อตเป็นตัวแปลกในส่วนของเหล็กลักษณะอื่นๆ ที่มีรูปทรงเป็นแท่งยาวใหญ่  แต่ตัวตรึงนี้ทำหน้าที่จำเพาะของมัน  เป็นคู่แห่งความสัมพันธ์  ตัวหนึ่งนั้นช่างเขาเรียกว่าตัวผู้  อีกตัวหนึ่งเรียกว่าตัวเมีย  น็อตตัวผู้เป็นแท่ง  ปลายข้างหนึ่งมีเกลียวด้านนอก  ทำหน้าที่เป็นสว่านไชเกลียว  ส่วนน็อตตัวเมียรูปทรงเป็นแป้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม  ตรงกลางมีรู  ด้านในของรูมีเกลียว  เมื่อใดก็ตามที่ช่างขันน็อตตัวผู้เข้าเกลียวด้านในของน็อตตัวเมียก็จะลงตัวได้อย่างพอดี  น็อตทั้งสองนี้จึงย่อมมีสัดส่วนสอดคล้องกัน  ผิดพลาดไม่ได้  หมายความว่าความสอดคล้องนี้แม้แต่องค์ประกอบเพียงเล็กน้อยก็มีความสำคัญ  จึงต้องให้ความสมบูรณ์ของส่วนย่อยเท่ากับส่วนใหญ่  น็อตที่ตรึงแต่ละท่อนชิ้นจากโคนเสาไปจนถึงยอดปลายหลายร้อยเมตรนั้น มีหน้าที่ไม่แตกต่างกันในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างของเสาไฟฟ้าแรงสูง  โดยปริยายก็คือต้องกระทำให้เกิดความสมดุลของรูปทรงนั้น

 

            คำอธิบายนี้เพื่อขยายความเข้าใจในยั่วยานที่ปัจเจกวิจัยจะขับเคลื่อนจากเครื่องพันธนาการไปเป็นเครื่องพัฒนาการ  ใช้ทฤษฎีความสอดคล้องเป็นตัวนำทาง  ปัจเจกวิจัยผู้พร้อมในหลักวิจัยขั้นสูงหากขจัดพลังร้อนในตนและจิตอวด (Ego)  บ้าง  ก็ย่อมพบว่า  ขั้นสูงนั้นมิใช่น็อตตัวที่อยู่สูงสุดบนปลายยอดเสาไฟฟ้าแรงสูง  และขั้นต่ำก็มิใช่น็อตตัวที่อยู่ต่ำเตี้ยล่างสุด  ความจริงแท้ของขั้นสูงอยู่ที่การเรียนรู้อย่างเข้าใจ  รู้ในคุณสมบัติของทุกขั้นกระบวนความ  ความเหมาะสม  ความถูกต้องในกระบวนการ เรียนรู้นั้นคือต้องรู้ให้ลึก  รู้ให้กว้าง รู้อย่างแจ้งต่อการนำไปใช้  เป็นเช่นดั่งกล่าวนี้ก็จะนำปัจเจกวิจัยหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ  ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้  ข้อคมคำคิดต่อท้าย มีว่า  “ปราชญ์นั้นมีอยู่ทั่วผืนแผ่นดิน  ปราชญ์นั้นมีได้ทั้งที่ได้รับการยกย่องด้วยตำแหน่งทางวิชาการ  ชั้นของระบบการศึกษา  สถานภาพทางสังคม  ปราชญ์นั้นมีได้แม้เป็นชาวบ้านเดินดิน และปราชญ์นั้นก็มีได้แม้ในทุกปัจเจกบุคคลเช่นกัน”




นานาสาระ

ขิมไทย : ขิมโลก
เขียนโน้ตดนตรีไทย ด้วยโปรแกรม Exel
วิธีการผูกสายขิม article
นัยสำคัญของเพลงพิธีกรรม
ดนตรีในงานประเพณีปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล เชียงใหม่
ดนตรีชนเผ่าที่เซกอง ประเทศลาว
เพลงพื้นบ้านบางเลน นครปฐม : พ่อเฒ่าบุญช่วง ศรีรางวัล
นัยดนตรีสร้างส่วนสัมพันธ์ของจิตให้สัมบูรณ์
คุณค่าสุนทรียรส และสัจจศิลป์ที่ปรากฏในบทเพลง
ศิลปินบรรเลงเพลงไพเราะยิ่ง
ภวารมณียะ ที่อยู่ในทำนองเพลง
ทฤษฎี 5 เกลียวรู้ : แนวการวิจัยภาคสนาม
บรรเลงเพลงพิธีกรรม
การวิวัฒนาการของกีตาร์คลาสสิก
การเล่นเพลงบรรเลงประโคม
ดนตรีบวงสรวงเทพารักษ์ : เจ้าพ่อขุนทุ่ง
ราชทินนามของนักดนตรีไทย
ภูมิบ้านภูมิเมืองกับการปกป้องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ISMI : การประชุมดนตรีศึกษานานาชาติ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โครงการภูมิบ้านภูมิเมือง article
การสัมมนาการศึกษาดนตรีระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย article
การศึกษาดนตรีไทย article
การถ่ายทอดดนตรีในสถานศึกษา article



บ้านดนตรีครูสมชาย 929/12 k akachai Rd., mahachai muang ,samutsakhon 74000. TEL.081-3330147 Copyright © 2015 All Rights Reserved.