คุณค่าสุนทรียรส และสัจจศิลป์ที่ปรากฏในบทเพลง
รศ.ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์
เสียงและความเงียบ ต่างก็เป็นส่วนของความเป็นดนตรี เสียงโดยนิยามมีกล่าวไว้ในพจนานุกรมว่าเป็นเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ที่ได้ยินด้วยหู หูได้ยินก็คือเสียงที่ผ่านเข้าหู ความเงียบก็คือไม่มีเสียง หูย่อมว่างเปล่าปราศจากสิ่งที่ผ่านเข้าไป เมื่อไม่มีเสียงผ่านเพราะเป็นความเงียบก็หมายความว่าขณะนั้นไม่มีเสียง ความเงียบมิใช่เป็นความสงบ ความสงบกับสมาธิเป็นของเคียงกัน สงบกับเงียบคือความสงบเงียบไม่มีเสียงหรือสิ่งกระทบรบกวน เมื่อความสงบเงียบเกิดขึ้น ก็เกิดจิตที่พร้อมอยู่ในความตั้งมั่น ที่สุดปัญญาก็ขยายวงเข้ามาสู่ความว่างนั้น เช่นนี้แล้วเสียงและความเงียบก็มิใช่ความเป็นดนตรี น่าจะเป็นเรื่องของจิตใจกับสมาธิที่มุ่งใฝ่เจริญวิปัสสนานำเข้าสู่ความเห็นแจ้ง เห็นจริง ลงลึกไปจนถึงสังขารหนอ ย่อมไม่มีความเที่ยงเป็นธรรมดา เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มีเกิด ดำรงทรงอยู่ แล้วดับไป วัฏจักรเป็นดั่งนี้ เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิที่สุดก็ก้าวเข้าสู่อานาปานสติ คือความระลึกได้ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก ปัญญาก็เจิดจ้าในความสว่างแจ้งนั้น
สมาธิ ปัญญา และความสว่าง มีความตรงแน่วแน่ในความเงียบและสงบ แตกต่างจากความเป็นดนตรีที่มีการเคลื่อนไหวของเสียง ปรากฏการณ์ที่พลิ้วไปตามลีลาทำนอง มีจังหวะ มีสีสัน มีพลังของการขับเคลื่อน มีผัสสะรับรู้ด้วยเครื่องแห่งการรับรู้และสิ่งที่รู้คืออายตนะ อายตนะของการรับรู้ดนตรีสัมผัสภายนอกด้วยตา ประจักษ์ด้วยท่วงท่าการบรรเลง ขับร้อง ด่ำรู้ด้วยโสต เกิดนานารสารมณ์อันพร้อมด้วยความพึงพอใจของผู้สดับ ความต่างของสมาธิและปัญญากับดนตรีจึงอยู่ที่เสียง แนวความคิดของนักปราชญ์จึงอธิบายว่าปรมัตถ์แห่งเสียงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเสียงที่กำหนดไว้ดลใจของผู้สดับ ประสบการณ์ของการรับรู้จึงเป็นมาตรฐานของคำอธิบายความงามในความไพเราะ เป็นสุนทรียะของคุณค่าที่หาคำอธิบายได้ยาก แม้รู้ว่าไพเราะ แม้รู้ว่าเสนาะ จนดื่มด่ำ แต่ละปัจเจกก็ย่อมมีระดับต่างกัน เพราะเป็นความลึกรู้จากประสบการณ์สุนทรียรส มีมากหรือน้อยจึงเป็นไปเฉพาะตน
ในแนวเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ สุนทรียรสของดนตรีเป็นคุณค่าในเชิงมนุษยศาสตร์ที่ปรุงแต่งไว้ด้วยศิลปะแห่งความเสนาะงาม ไม่ใช่คุณค่าเชิงวิทยาศาสตร์ที่รายล้อมด้วยความตรงเที่ยงของค่าจำนวน สัดส่วน ความคงที่ สุนทรียรสมีความยืดหยุ่นอยู่ท่ามกลางความเหมาะสมของบริบท คือมีความงามเสนาะอย่างศิลปะ ค่าความคงที่หนึ่งบวกสองเท่ากับสามอย่างวิทยาศาสตร์นั้นก็ได้ตำตอบตามนั้น แม้พลิกแพลงมากกว่าคำตอบของสาม ก็เนื่องด้วยการแยกจำนวนจากมวลรวม ให้มากกว่าหรือน้อยกว่า ความเห็นเหตุเป็นผลก็ยังคงเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนจำนวนเชิงศิลปะนั้นอาจมีน้อยหรือมากกว่าได้มากกว่า ทั้งยังมีความยืดหยุ่นมากกว่า มีพื้นที่ชายขอบเป็นสีเทาแทนสีตัดขาวตัดดำ สัจจะศิลป์จึงธำรงไว้ ณ ตำแหน่งของความเหมาะสม ความสอดคล้อง ความพอดี ตรงใจของศิลปินผู้รังสรรค์ ตรงใจของผู้เสพย์ อารมณ์และความรู้สึกเป็นวิธีหนึ่งในการประเมินคุณค่าของสิ่งที่ปรากฏในบทเพลง สัจจะศิลป์เป็นสากลของโลกศิลปิน เป็นโรงงานอุตสาหศิลปกรรมที่มีกฎเกณฑ์และไร้กฎเกณฑ์ มีวัตถุดิบส่งป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต เป็นวัตถุดิบที่เก็บจากปรากฏการณ์รูปธรรม เก็บจากปรากฏการณ์นามธรรม จิตภาวะของกลไกได้รับวัตถุดิบนั้นมาเป็นสูตรสำคัญของการผลิต สัมฤทธิผลของเนื้อหาและคุณค่าขึ้นอยู่ท่ามกลางบริบทของกระบวนการที่ เป็นไปตามศิลปินผู้รังสรรค์ต้องการว่ามีเป้าหมายส่งผ่านคุณค่าใดออกมา
คุณค่าของสุนทรียรสกับสัจจศิลป์เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงนามธรรม โลกย่อมหวั่นไหวเพราะบทเพลงแห่งการปลุกระดมให้เกิดความรัก ความเริงร่า ความฮึกเหิม หรือซึมเศร้าเหงาหงอย โลกย่อมสงบนิ่งโดยดุษฎีด้วยบทเพลงที่ปรุงด้วยสมาธิ และมนตรา วงล้อมในอานุภาพของเสียงมีความมหัศจรรย์พร้อม ทฤษฎีแห่งการสร้างสรรค์จึงมีกฎเกณฑ์ที่สามารถเจือด้วยความไม่มีกฎเกณฑ์ได้เสมอ ในขณะเดียวกันความไม่มีกฎเกณฑ์ก็นำมาสู่ความมีกฎเกณฑ์ได้เช่นกัน การประเมินสุนทรียรสด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นการประเมินด้วยกรอบนอกที่ผู้ประเมินวิ่งวนไปรอบๆ แบบหยั่งเหมือนว่าจะรู้แต่จะรู้เหมือนอย่างที่หยั่งนั้นหรือไม่ ไม่สามารถกำหนดได้
ปรัชญาว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ ที่อธิบายสุนทรียะในเชิงดุริยศิลป์ มีการตีความหมายของคุณค่าในความงามเสนาะต่างไปจากสุนทรียะในเชิงธรรมชาตินิยม วังวนของเสียงจากธรรมชาติอยู่ในสถานะของภูมิชาติที่ปราศจากการปรุงแต่ง เสียงลมเสียงคลื่นที่สาดซัดระลอกแล้วระลอกเล่าและอาจคละด้วยเสียงของสายฝนที่ดำเนินประสานเสียงกัน แม้เป็นความงามก็ยังคงไว้ซึ่งภูมิชาติ สิ่งที่เหนือจากนี้ย่อมมีความสัมบูรณ์เหนือด้วยศักยะที่มีพลานุภาพต่อการรังสรรค์ของศิลปิน โดยใช้เนื้อหาของภูมิชาติมาผสมผสานจินตนาการผ่านความเป็นมานุษยรังสฤษฏ์ งานดุริยศิลป์นี้ได้ยอมรับกันในหมู่นักวิชาการศิลปะว่าเป็นสัจจศิลป์ที่สนองด้วยอารมณ์และความรู้สึก เกิดสุนทรียรสเมื่อได้ผัสสะแห่งการรับรู้บทเพลง ท่วงทำนองที่สะท้อนอารมณ์ธรรมชาติของคลื่นลมและสายฝน ผู้สดับก็เกิดจินตนาการเคลื่อนคล้อยไปตามแนวทำนองนั้น ไม่จำกัดด้วยสภาวะของการฟัง
ประสบการณ์สัจจศิลป์เพิ่มพูนด้วยการสั่งสม เริ่มต้นด้วยเชิงปริมาณของการรับรู้ การค้นพบความงามเสนาะรูปแบบต่างๆ หลากหลาย ความซ้ำ ความเหมือนคล้าย มีส่วนเสริมให้การตีคุณค่ามีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประสบการณ์ครั้งที่ร้อยย่อมเหนือกว่าครั้งที่ห้าสิบ ประสบการณ์ครั้งที่ห้าสิบย่อมเหนือกว่าครั้งที่สิบ ดั่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับแพทย์ที่แผ่วประสบการณ์ ย่อมมีความสามารถในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำแตกต่างกัน ดังนั้นการฟังเพลงด้วยปริมาณการฟัง เวลาการฟัง การศึกษาข้อมูลเนื้อหาที่ฟัง การวิเคราะห์เพลงที่ฟัง การตีความของความงามเสนาะ จึงเป็นทิศทางไปสู่สุนทรียรสที่เป็นประสบการณ์เชิงคุณภาพ บุคคลจึงย่อมเป็นปัจเจกต่อการประเมินคุณค่าสุนทรียรส.