ReadyPlanet.com
dot dot
bulletHome
dot
Group Menu
dot
bulletบริการของเรา
bulletสนทนาภาษาดนตรี
bulletสินค้าของเรา
bulletนานาสาระ
dot
Newsletter

dot
bulletgoogle.com
bulletpantip.com
bulletMahidol University
bulletวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
bulletintranet.sasin.edu/thaimusicclub
bullethttps://www.facebook.com/smusichome




ศิลปินบรรเลงเพลงไพเราะยิ่ง

 

ศิลปินบรรเลงเพลงไพเราะยิ่ง

รศ.ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์

 

           แนวคิดของผู้เขียนในฉบับนี้ มุ่งสาธยายความหมายของคำว่า “อคฺฆตุริยตาฬิตวาทิตานํ”  เป็นสำคัญ  เพราะคำนี้เป็นคำบาลีที่ผูกขึ้นสำหรับใช้เป็นชื่อคอลัมน์ประจำ   สำหรับชื่อนี้ได้เริ่มริใช้เพื่อนำเสนอแนวความคิด  เนื้อหาสาระ  รวมทั้งประสบการณ์ต่างๆ ที่เนื่องด้วยอรรถบททางดนตรี  โดยผู้เขียนมีใจต้องการขยายสิ่งที่รู้สู่กัลยาณมิตร  เป็นภาคแสดงของนักวิชาการดนตรีหรือนักวิจัยดนตรี  เสมือนเป็นเวทีของการนำเสนอดนตรีเช่นเดียวกับนักดนตรีที่ใช้เวทีแสดงในการบรรเลงบทเพลงของตนตามทักษะปฏิบัติที่มีความสามารถนั้น  ชื่อของคอลัมน์ประจำนี้ค่อนไปในความซับซ้อนของคำและความหมาย   ดังข้อถามที่มีผู้อ่านจำนวนไม่น้อยได้ซักถ้อยถามความกับผู้เขียนเสมอว่า  ชื่อนี้อ่านอย่างไร  ชื่อนี้มีความหมายอย่างไร เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของดนตรีด้วยหรือไม่   ดังนั้นในการนำเสนอเนื้อหาครั้งนี้  จึงเสนอเนื้อประเด็นที่ว่าด้วยชื่อและความหมายโดยเฉพาะ 

 

            การอ่านชื่อ “อคฺฆตุริยตาฬิตวาทิตานํ”  ให้อ่านจากคำหน้าทางด้านซ้ายมือตาม แนวไปทางขวามืออย่างการอ่านหนังสือภาษาไทย  ส่วนการแปลความหมายให้แปลความทวนจากคำหลังสุดทางด้านขวามือมายังคำหน้าด้านซ้ายมือ  อย่างการแปลภาษาอังกฤษที่มีส่วนขยายมาเป็นภาษาไทย  เช่นคำว่า  blackboard   มีความหมายว่ากระดานดำ  reading room  มีความหมายว่าห้องอ่านหนังสือ  musical instrument  มีความหมายว่าเครื่องดนตรี  ไม่ใช่ให้ความหมายว่าดำกระดาน  การอ่านหนังสือห้อง  หรือดนตรีเครื่อง   ตัวอย่างในภาษาไทยอื่นๆ  ตัวอย่างเช่น  คำว่า “นพีสี”  คำนี้เป็นคำสนธิระหว่างคำ “นพ” กับคำ “อิสิ” เกิดเป็นคำใหม่คือ “นพีสี”   คำ “นพ”  มีความหมายถึงจำนวนเก้า (9)  เป็นคำวิเศษณ์ ศัพท์เดิมใช้ว่า “นว”  (“นว” มี 2 ความหมาย คือ  หมายถึง “9” ก็ได้  “ใหม่”  ก็ได้)  พยัญชนะ “”  แผลงเป็น “”  อย่างวิหาร - พิหาร วิจิตร – พิจิตร  เป็นตัวอย่าง  คำ “นพ”นี้มักพบว่ามีการนำไปใช้กับคำอื่น  เช่น นพเก้า  นพปฎล  นพรัตน์  ฯลฯ  คำว่า “อิสิ”  หมายถึง “ฤๅษี”  คำว่า  “นพีสี” เมื่อแปลคำก็หมายถึง “ฤๅษี 9 ตน”  ไม่แปลว่า  “9 ตนฤๅษี”  อย่างที่มีการแข่งขันกีฬาและมักใช้กันว่า 9 ชนิดกีฬา  ที่ถูกควรใช้ว่า  กีฬา 9 ชนิด    ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งคือคำว่า  “เขมาลีลากุล”  ตามรูปศัพท์เป็นคำสนธิ  มีความหมายที่แปลจากหลังมาหน้าว่า  “สกุลหรือตระกูลของผู้ดำเนินไปอย่างมีความสุขสำราญใจ” ทั้งนี้  คำว่าเขมา  ต้องอ่านว่า เข-มา เป็นศัพท์เดียวกับคำว่าเกษม  ต้องไม่อ่านว่า  “ขะ – เหมา”  (เขฺมา)  เพราะคำว่าเขฺมาเป็นภาษาเขมร มีความหมายว่า   ดำหรือสีดำหรือสีหม่นมืด  เป็นคำที่ไม่เข้ากลุ่มกับการสร้างคำสนธิของคำว่า  “เขมาลีลากุล”  หากไม่พิจารณาให้รอบคอบและอ่านอย่างภาษาเขมรก็ถือว่าอ่านผิด  เมื่ออ่านผิดความหมายก็ย่อมผิดตามไปด้วย   จากหลักการดังกล่าวข้างต้น  คำว่า “อคฺฆตุริยตาฬิตวาทิตานํ” จึงให้อ่านอย่างรูปคำบาลีว่า “อัก-คะ-ตุ-ริ-ยะ-ตา-ลิ - ตะ-วา-ทิ-ตา-นัง” คำทั้งหมดเมื่อนำมาจำแนกแล้วประกอบด้วยคำจำนวน 4 คำย่อย คือ  “อคฺฆ - ตุริย - ตาฬิต - วาทิตานํ” 

 

             สำหรับความหมายของคำแต่ละคำ  ขออรรถาธิบายดังนี้  คำ “วาทิตานํ” แปลตามตัวว่า “แห่งดนตรีอันบุคคลประโคมแล้ว”  วาทิตานํ มาจากตัวตรงคือคำว่า “วาทิต”  คำนี้มีหลายความหมายคือ  แปลว่าสังคีตก็ได้  ดนตรีก็ได้  ผู้บรรเลงดนตรีก็ได้  คำเทียบมีคำ “วาทก” คือผู้บรรเลงดนตรี  นักดนตรี  ผู้ประโคม มีความหมายเดียวกับคำว่า  “วาทิน”  อย่างคำว่า “สุนทรวาทิน”  ซึ่งคำนี้เป็นนามสกุลของพระยาเสนาะดุริยางค์  (แช่ม  สุนทรวาทิน) ออกเสียงว่า สุน – ทะ – ระ – วา - ทิน  คำ “สุนทร” นี้ความหมายว่า  ดี  งาม หรือไพเราะก็ได้  ความหมายจึงตรงกับความว่า  “นักดนตรีที่ดี”  คำอื่นที่เป็นคำกริยาใช้ว่า  “วาทน”  หมายถึง  การบรรเลงดนตรี  การประโคมดนตรี  รากศัพท์ภาษาบาลีว่า “วาทิตฺต” ภาษาสันสกฤตว่า “วาทิตฺร”  โดยปริยายคำว่าวาทิน  หรือวาทิตานํ จึงหมายถึงนักดนตรี  หรือศิลปิน  เป็นบุคคลผู้กระทำแล้วซึ่งศิลปะดนตรี

 

             คำว่า “ตาฬิต” คำนี้  หมายถึง  การตี การบรรเลง   มีคำเทียบอยู่คำหนึ่งคือคำว่า  “ตาฬํ”  มีความหมายถึงฉิ่งก็ได้  กังสดาลก็ได้  ในพจนานุกรม อธิบายคำ “กังสดาล” ว่าระฆังวงเดือน  ถ้าลงคำที่ว่า  “ตาฬิตานํ” ก็หมายว่า  อันตีแล้ว  ประโคมแล้วซึ่งการบรรเลง   คำว่าประโคมเป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยใช้มาช้านาน  มีความหมายถึง  การบรรเลงดนตรีเพื่อเป็นสัญญาณในพิธีบางอย่าง  เพื่อการสักการบูชาหรือเพื่อการยกย่อง  ดังใช้เรียกกันในงานพระพิธีธรรมสวดพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนคราธิวาสราชนครินทร์  ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ในพระบรมมหาราชวัง  ว่า  “ประโคมยาม”  ไม่เรียกว่าบรรเลงยาม  หรือตียาม  การประโคมจึงมีนัยถึงความเป็นพิธีมากกว่าการบรรเลงที่มีความหมายเพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น  คือเพื่อทำเพลงด้วยเครื่องดุริยางค์ให้เป็นที่เจริญใจ  เป็นการบรรเลงเพลงเพื่อการฟัง    เพื่อการขับกล่อม  ฯลฯ  ดังนั้นคำ “ตาฬิตานํ หรือ  ตาฬิต” ที่มีความหมายว่าอันตีแล้ว และผู้ที่ตีแล้ว  ประโคมแล้ว  บรรเลงแล้ว  ก็คือนักดนตรี  หรือศิลปิน  ตามนัยของ “วาทิตานํ” เมื่อสนธิเป็นตาฬิตวาทิตานํ  จึงหมายรวมว่าเป็นผู้กระทำแล้วซึ่งการบรรเลงเพลง  แต่บรรเลงด้วยอะไรนั้นก็ต้องมีกรรมมารับการกระทำของประธานในประโยค  คือคำว่า “ตุริย”

 

             คำว่า  “ตุริย” เป็นคำบาลี  ในภาษาไทยเปลี่ยนตัว “”  เป็น  “”  คือ  “ดุริย”  หมายถึง เครื่องดีดสีตีเป่า  มีคำหลายคำที่นำคำนี้ไปสนธิ  เกิดเป็นคำที่มีความหมายใหม่เกิดขึ้น  เช่น  นำไปสนธิกับคำว่า  “องค์”  เป็นดุริยางค์  มีความหมายถึงส่วนของเครื่องดีดสีตีเป่า  นอกจากสนธิกับคำบาลีแล้วยังนำไปสมาสกับคำภาษาสันสกฤตด้วย  คือ  คำว่า  ดุริยางคศาสตร์  หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยการบรรเลงเครื่องดุริยางค์  อีกคำหนึ่งเป็นคำสมาสเช่นเดียวกันคือคำว่า “ดุริยางคศิลป์”  มีความหมายว่า  ศิลปะของการบรรเลงเครื่องดุริยางค์  เมื่อนำมาใช้ติดต่อกับคำว่าวิทยาลัยก็คือวิทยาลัยดุริยางคศิลป์  ความหมายก็ขยายออกไปเป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล  คนจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจกันว่าคำ “ดุริยางค์” นี้เป็นคำแขก  คือภาษาบาลี  และเห็นว่ามีคำในภาษาไทยอยู่แล้วน่าจะใช้คำภาษาไทยว่า “ดนตรี”  นับว่ายังเป็นความคลาดเคลื่อนอยู่  เพราะคำว่า “ดนตรี” คำนี้เป็นคำภาษาสันสกฤต  ว่า  “ตนฺตฺรินฺ”  คำบาลีก็มีใช้ว่า  “ตนฺติโย  หรือ  ตนฺติสทฺทํ”  โดยรากศัพท์มีความหมายถึง  “ซึ่งสาย  ซึ่งเสียงแห่งสาย”  บางนิยามก็ว่า  “สายพิณ”  แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542  อธิบายความหมายที่เป็นและใช้อยู่ในปัจจุบันว่า  “เสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลง  เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดัง  ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน  หรือเกิดอารมณ์รักโศก หรือรื่นเริง เป็นต้น  ได้ตามทำนองเพลง”  ดังนั้นทั้งคำว่าดนตรีและคำว่าดุริยะ  ดุริยางค์  เมื่อนำมาสนธิหรือสมาสหรือ ใช้โดดๆ ก็เป็นคำในภาษาบาลี  และภาษาสันสกฤตด้วยกันทั้งสองคำ  นอกจากนี้คำว่าดุริยางค์ยังนำไปเป็นคำประสมกับคำในภาษาเขมรก็ได้เช่นกัน  คือคำว่า  “จำเรียง” คำนี้มีความน่าสนใจคำหนึ่งเพราะเกี่ยวข้องกับดนตรีด้วย  คำนี้เป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “เจรียง”  มีความหมายถึง  “ขับลำ  ขับกล่อม  ร้องเพลง”  เมื่อประสมก็ได้คำใหม่ว่า  “ดุริยางค์จำเรียง”  แม้ว่ามีความหมายว่า  “การขับกล่อมร้องลำร่วมกับเครื่องดีดสีตีเป่า”  แต่ความหมายที่แท้ของคำนี้กลายเป็นชื่อของกลบทชนิดหนึ่ง  ไม่เกี่ยวข้องกับดนตรีแต่อย่างใด  เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาคำว่า “ดุริยะ” คำนี้ ในความหมายที่ใช้จึงหมายรวมถึงความเป็นดนตรีในความหมายปัจจุบันที่ประกอบด้วยเครื่องบรรเลงที่ได้รับการบรรเลงแล้วซึ่งศิลปิน  ส่วนเพลงหรือทำนอง จังหวะที่บรรเลงแล้วก็ย่อมหมายถึงเพลงที่ผสานความเสนาะของสำเนียงร้องทำนองดนตรีไว้ด้วยกัน  หรือสื่ออย่างตรงไปตรงมาก็คือศิลปินบรรเลงเพลงแล้วนั่นเอง

 

             คำว่า “อคฺฆ”  เป็นคำภาษาบาลี  ภาษาสันสกฤตใช้ว่า  “อรฺค” ในภาษาไทยผันตัวสะกด รฺ เป็น –รร-  คือ  “อรรฆ” มีความหมายตามคำว่า  “มีค่า  มีราคา”  ถ้าสร้างคำใหม่โดยนำคำปฏิเสธ “อน”  เข้าไปข้างหน้า  ภาษาสันสกฤตใช้ว่า  “อนรฺฆ” ภาษาไทยใช้ว่า  “อนรรฆ”  คำว่า  “อน”  มีความหมายว่า “ไม่  ไม่ใช่”  ดูเหมือนว่าหากแปลความโดยฉับไวก็หมายว่า  ไม่ใช่สิ่งที่มีค่า  ไม่ใช่สิ่งที่มีราคา  กลายเป็นความหมายเชิงลบ  แต่แท้ที่จริงแล้วคำว่า  “อนรรฆ”  มีความหมายมากกว่าว่า  “อันหาค่ามิได้   มีค่าเกินกว่าที่จะประมาณราคาได้  หรือมีค่ามากอย่างยิ่ง”   อีกคำหนึ่งคือ  “อรรฆย์”  คำนี้เป็นคำวิเศษณ์มีความหมายว่า  มีค่า  มีราคา  ควรแก่การยกย่อง  ความหมายโดยตรงของคำ “อคฺฆ”  ที่มากจนประมาณค่าไม่ได้นั้น  ในความมากค่าของดนตรีเป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณ  ความมากนั้นมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง  ความมากค่าจึงเป็นที่ยิ่ง  อย่างคำว่า “ยิ่งใหญ่” คือ “ยิ่ง” นั้นมีมากเหนือกว่าคำว่าใหญ่     จึงปรากฏในมิติของคำว่า  “ยิ่ง”  ที่หมายรวมอรรฆของความเป็นหนึ่งเดียวแห่งความไพเราะจากเพลงบรรเลงที่ศิลปินได้นำเสนอแล้วนั้น

               

               จากการตีความของคำ  ““อคฺฆ - ตุริย - ตาฬิต - วาทิตานํ”  ข้างต้นได้แฝงนัยของคำความไว้ในความหมายที่หมายความ  คือ “วาทิตานํ – ตาฬิต - ตุริย - อคฺฆ”  ลำดับนิยามอย่างสามัญได้ว่า  ศิลปินบรรเลงเพลงไพเราะยิ่ง ความไพเราะที่ยิ่งได้เกิดขึ้นจากศักยภาพอันสมบูรณ์ของศิลปินในการใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์  บรรเลงและปรุงเพลงอย่างประณีต ความไพเราะของเพลงที่บรรเลงแล้ว  แม้โลกที่ได้ยินก็ย่อมจับใจในคุณค่าแห่งสุนทรียรสนั้น.

 

 

เอกสารอ้างอิง

ฉลาด  บุญลอย,  เสถียร  พันธรังสี,  และประยุทธ์  ปยุตฺโต,  พระมหา.  (ม.ป.ป.) พจนานุกรม บาลี –

            สันสกฤต –ไทย –อังกฤษ.  พระนคร:  แพร่พิทยา.

พจนสุนทร,  พระยา (เรือง  อติเปรมานนท์). (ม.ป.ป.).  อักขรานุกรมธรรมบท. ไม่ปรากฏที่พิมพ์.

ราชบัณฑิตยสถาน (2546).  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพมหานคร:

            นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์.

ราชบัณฑิตยสถาน (2548).  พจนานุกรม  ศัพท์ปรัชญา อังกฤษ – ไทย  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

            พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: ศักดิโสภาการพิมพ์.

ศรี,  พระมหา. (2549).  ศัพทานุกรมแห่งธัมมปทัฏฐกถา. พระนคร: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง.

อุดรคณาธิการ,  พระ  (ชวินทร์  สระคำ)  และจำลอง  สารพัดนึก.  (2538).  พจนานุกรมบาลี - ไทย 

            ฉบับนักศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร:  บริษัทประยูรวงศ์พริ้นติ้ง จำกัด.




นานาสาระ

ขิมไทย : ขิมโลก
เขียนโน้ตดนตรีไทย ด้วยโปรแกรม Exel
วิธีการผูกสายขิม article
นัยสำคัญของเพลงพิธีกรรม
ดนตรีในงานประเพณีปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล เชียงใหม่
ดนตรีชนเผ่าที่เซกอง ประเทศลาว
เพลงพื้นบ้านบางเลน นครปฐม : พ่อเฒ่าบุญช่วง ศรีรางวัล
ทฤษฎีความสอดคล้องกับการวิจัยขั้นสูง
นัยดนตรีสร้างส่วนสัมพันธ์ของจิตให้สัมบูรณ์
คุณค่าสุนทรียรส และสัจจศิลป์ที่ปรากฏในบทเพลง
ภวารมณียะ ที่อยู่ในทำนองเพลง
ทฤษฎี 5 เกลียวรู้ : แนวการวิจัยภาคสนาม
บรรเลงเพลงพิธีกรรม
การวิวัฒนาการของกีตาร์คลาสสิก
การเล่นเพลงบรรเลงประโคม
ดนตรีบวงสรวงเทพารักษ์ : เจ้าพ่อขุนทุ่ง
ราชทินนามของนักดนตรีไทย
ภูมิบ้านภูมิเมืองกับการปกป้องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ISMI : การประชุมดนตรีศึกษานานาชาติ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โครงการภูมิบ้านภูมิเมือง article
การสัมมนาการศึกษาดนตรีระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย article
การศึกษาดนตรีไทย article
การถ่ายทอดดนตรีในสถานศึกษา article



บ้านดนตรีครูสมชาย 929/12 k akachai Rd., mahachai muang ,samutsakhon 74000. TEL.081-3330147 Copyright © 2015 All Rights Reserved.