การศึกษาดนตรีในงานภาคสนาม มีความซับซ้อนที่ซ้อนทับด้วยระบบของจารีตประเพณี ความเชื่อ มีความเข้มในเชิงวิถีชน มีความข้นในเชิงสาระที่บรรดานักวิจัยสนามสามารถสัมผัสและเรียนรู้ได้เมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมนั้น ดังคำที่นักวิจัยทางมานุษยวิทยากล่าวถึงอยู่เสมอคือความเป็นคนในของวัฒนธรรมชุมชน คำ คนใน และมีคำตรงข้ามว่า คนนอก เป็นคำที่นำมาอธิบายได้ชัดเจน ภาพเชิงซ้อนของงานภาคสนามบางครั้งก็สร้างความกังวลให้แก่นักวิจัยสนามไม่น้อย โดยเฉพาะการเริ่มต้นที่ดีของการทำงาน
ขั้นตอนแรกของทฤษฎี 5 เกลียวรู้ คือ ขั้นตอนของคำว่า รู้จัก นิยามของคำนี้ มีความหมายถึงสิ่งที่เป็นประสบการณ์ของนักวิจัยเองในการที่ได้ผ่านพบ การพบนี้ตีความอย่างตรงไปตรงมาก็คืออากัปกิริยาที่เป็นผลอย่างต่อเนื่องกัน ผลนั้นเกิดขึ้นโดยการค้นพบ การหาพบ หรือการไปพบ จึงเป็นสภาวะของการเคยพบ เคยเห็น ที่สุดก็รู้สิ่งที่พบนั้น เมื่อรู้แล้วจึงจำได้ ความจำเป็นอดีตกาลของมวลประสบการณ์ที่ผ่านไปแล้ว เป็นกระบวนการภายในที่ซ่อนอยู่จนก่อให้เกิดการระลึก นึกถึง นึกคิด และนึกออก เพราะจำได้ คำแต่ละคำที่ยกอ้างนี้ต่างก็มีนัยสำคัญอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์
ขั้นตอนแรกของงานภาคสนามขึ้นอยู่ที่นักวิจัยมีโครงคิดเช่นไร ความคิดที่มีนั้นตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลหรือไม่ หรือตั้งอยู่บนความไม่รู้ หรือรู้บ้างแต่มีข้อมูลจำกัด การมีข้อมูลที่ไม่เอื้อต่อการก้าวเกี่ยวไปสู่สนามนั้นเป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาอย่างมาก เพราะผลที่ได้รับนั้นอาจมีปัญหาได้ นักวิจัยดนตรีที่สนใจศึกษาความรู้ดนตรีของกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งแล้วดุ่มเดาเข้าพื้นที่ ตัวอย่างประกอบ เช่น กรณีการศึกษาดนตรีของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดตาก นักวิจัยอาจจะต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้เพราะชาวกะเหรี่ยงมีจำนวนมาก มีถิ่นอาศัยกระจาย มีความต่างของวัฒนธรรมย่อย ทั้งกะเหรี่ยงปวาเกอญอ กะเหรี่ยงโป กะเหรี่ยงอื่นๆ หรืออาจมีวิธีที่แยกออกเป็นกะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ กะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ยังนับถือศาสนาจิตวิญญาณ เป็นต้น ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่นักวิจัยต้องรู้จักส่วนของงานที่ศึกษา
นักวิจัยควรศึกษาความเป็นชาวกะเหรี่ยงโดยภาพรวม ศึกษาสังคมประเพณี จารีตปฏิบัติขนบธรรมเนียม ทำความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ วิถีชีวิต ศึกษาถิ่นที่พำนัก ศึกษาข้อมูลดนตรี ศิลปะการแสดง โดยศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งบทความ งานเขียน สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ งานวิจัย ข้อมูลสถิติชาวเขาของกรมประชาสงเคราะห์ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต วีดิทัศน์สารคดีที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
การศึกษาจารีตปฏิบัติ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ความแตกต่างระหว่างนักวิจัยสนามกับบุคคลข้อมูลในงานสนามซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะ มีสิ่งที่ง่ายต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นง่าย เพราะเรื่องของจารีตนั้นกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะได้ถือปฏิบัติและประพฤติต่อเนื่องกันมาช้านาน ยิ่งเป็นข้อห้ามแล้ว หากเกิดมีขึ้นความรุนแรงก็อาจขึ้นทันที เช่น ข้อห้ามด้านการถูกเนื้อต้องตัว การอยู่ตามลำพังระหว่างบุคคลต่างเพศ แม้ในความเป็นอยู่ของกลุ่มวัฒนธรรมเองก็ระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ ดังพบได้จากชนเผ่าซาไกที่พ่อของสามีแม้เมื่อต้องพูดคุยกับลูกสะใภ้ก็ต้องมีบุคคลที่ 3 นั่งหรืออยู่คั่นกลางเสมอ สิ่งนี้คือกลไกควบคุมระบบสังคมของกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะไว้ ต่างจากสังคมเมืองที่ในปัจจุบันไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ การแตะสัมผัสของบุคคลต่างเพศโดยไม่เจตนาเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อต้องไปอยู่ในที่ท่ามกลางชุมชนที่แออัด หรือขึ้นรถลงเรือไปเหนือล่องใต้ การศึกษาให้รู้จักจารีตเช่นนี้จึงมีความจำเป็น เพราะแม้แต่นักวิจัยที่เข้าไปศึกษางานเป็นกลุ่มเป็นคณะก็ต้องไม่ให้เกิดมีขึ้นในหมู่ของตนเองเช่นกัน
ภาษา เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้อย่างหนึ่ง แต่เป็นการยากมากสำหรับงานภาคสนามที่เข้าไปศึกษาในวัฒนธรรมที่ต่างภาษาพูด อย่างไรก็ตามในโลกปัจจุบันที่ระบบการศึกษาที่รัฐบาลส่วนกลางกำหนดให้คนไทยที่เกิดในประเทศไทยทุกคน รวมทั้งกลุ่มชนต่างๆ ให้เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ แม้ว่าในงานสนามอาจมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยกลางได้ บรรดาเยาวชนที่มีอยู่ในพื้นที่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับการศึกษาดนตรีของนักวิจัยดนตรีแล้ว ภาษาของดนตรีกลับเป็นดั่งเครื่องปรุงรสอย่างดีต่อการสร้างสายใยความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างภาษาแต่มีภาษาดนตรีเหมือนกัน คนดนตรีจึงย่อมมีจุดร่วมในภาษาเสียง และหากนักวิจัยมีพื้นภาษาพูดบ้างโดยเฉพาะศัพท์คำที่ต้องสื่อสาร ส่วนนี้ก็จะช่วยพัฒนาความรู้ที่นักวิจัยต้องการจากสิ่งที่ต้องการศึกษา
ภาษาดนตรีบางคำศัพท์ของบางถิ่นที่นักวิจัยดนตรีอาจต้องทำความเข้าใจ เช่น คำว่าลูกคู่ของภาษาดนตรีถิ่นใต้หมายถึงวงดนตรี นักดนตรี ไม่ใช่การขับร้องเพื่อร้องรับคำร้องต้นเสียงของภาษาดนตรีภาคกลาง หรือคำว่าหลาบในภาษาดนตรีอีสานหมายถึงโลหะบางๆ ที่ใช้ทำลิ้นแคน หรือคำว่าก๊อบ ในภาษาดนตรีล้านนา หมายถึงนมหรือหย่องของเครื่องดนตรี เป็นต้น ดังนั้นการรู้จักความหมายของภาษาจึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่นำไปสู่สำเร็จของนักวิจัยสนาม
สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยโดยเฉพาะนักดนตรีภาคสนามต้องรู้จัก คือการใช้เครื่องมือวิจัย ซึ่งมีหลายอย่าง แบบสัมภาษณ์ที่พัฒนามาเป็นโครงร่างทั้งที่ใช้แบบทางการหรือเป็นกรอบในการสัมภาษณ์ นักวิจัยควรเรียนรู้วิธีการใช้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการสำหรับศิลปินหรือบุคคลข้อมูลบางราย อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะเกิดอาการเกร็งข้อมูลคือความระมัดระวังในการบอกกล่าวเล่าความ ยิ่งนักดนตรีของกลุ่มวัฒนธรรมถิ่นทราบว่าเป็นนักวิจัย เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ปริญญาโท เป็นครูอาจารย์ ที่เข้าไปทำการศึกษาก็เกิดความฝืดในการให้ข้อมูล ดังนั้นกรอบที่ใช้ นักวิจัยจึงควรจำและลำดับข้อคำถามให้ได้ เปิดวิธีการอย่างไม่เป็นทางการ เหมือนการสนทนาเยี่ยงลูกหลาน หรือสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองให้มากที่สุด
เครื่องมือวิจัยอีกลักษณะหนึ่งคือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่นเครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพนิ่งประเภทกล้องถ่ายรูป กล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว เครื่องวัดระดับเสียง ฯลฯ นักวิจัยควรรู้จักคุณสมบัติ ความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ วิธีการใช้ รู้จักระบบ และการตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ ซึ่งบรรดาเครื่องมือวิจัยลักษณะเช่นนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากสำหรับนักวิจัยในสมัยปัจจุบันที่มีประสบการณ์ในการใช้อยู่แล้ว สิ่งที่ควรต้องรู้คือการนำไปใช้ให้สอดคล้องกับเนื้องานในงานภาคสนามได้อย่างไร เพื่อให้ได้ความสมบูรณ์ของสิ่งที่ต้องการศึกษา
ขั้นตอนของทฤษฎีเกลียวรู้ สำหรับนักวิจัยภาคสนาม อันดับที่ 1 จึงมุ่งไปที่การเตรียมพร้อมของนักวิจัยในขั้นที่เรียกว่า รู้จัก คือ ต้องรู้จักในส่วนของงานที่ต้องการศึกษา รู้จักจารีต ขนบประเพณีของบุคคลในสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องการเข้าไปศึกษา รู้จักภาษาของท้องถิ่นเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการเข้าถึงข้อมูล และรู้จักใช้เครื่องมือวิจัยอย่างเหมาะสม.
ตอนที่ 3 "รู้ใจ"

การรู้ใจ เป็นแนวคิดหนึ่งของทฤษฎี 5 เกลียวรู้ เมื่อพิจารณาโดยพื้นฐานแล้วดูประหนึ่งว่าแนวคิดนี้มีความง่าย แต่เมื่อพิจารณาอย่างวิเคราะห์ถึงความซับซ้อนแล้วก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะ การรู้ มีความหมายถึงความประสงค์แจ้งเพื่อต้องการให้เกิดเข้าใจ แจ่มชัด ไขความที่มีอยู่ให้ทราบ ถ้านึกถึงคำว่ารู้ความ รู้คำ อย่างนี้มักพบในการสื่อสารกับเด็กๆ ที่ต้องการสร้างและเสริมให้เข้าใจภาษา นำไปสู่กระบวนการจดจำ อีกส่วนหนึ่งคือการรู้ทัน รู้ถึงเหตุการณ์ รู้ในส่วนนี้เป็นการนำไปสู่ความรู้ที่รู้ถึงความนึกคิดของบุคคลอื่นชนิดทันทีทันใด ไม่หยุดรอไตร่ตรอง เพราะอยู่ในขอบข่ายที่ว่ารู้ทันและรู้ถึง
เกลียว รู้ใจ ในงานภาคสนาม มีนัยที่ขยายขอบข่ายกว้างกว่าการรู้ที่กล่าวข้างต้น ถ้านักวิจัยชำนาญการสร้างแผนที่ความคิด อาจขยายขอบเขตออกไปได้กว้างกว่า มากกว่าเท่าที่ความคิดน้อมนำไป แต่สำหรับแนวคิดนี้ต้องการให้เชื่อมบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลในสนามอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นที่ตัวนักวิจัย วงรอบประกอบด้วยบุคคลที่นักวิจัยต้องรู้ใจ คือใจของบุคคลข้อมูล ใจของพวกเขาที่อยู่กับพื้นที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลข้อมูลมากน้อยแตกต่างกัน ใจของผู้อำนวยงานที่ส่งผลต่อความสะดวกในการเก็บรวบรวมข้อมูล ใจพวกตนซึ่งหมายถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักวิจัย อาจเป็นกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานเป็นหมู่คณะ ผู้ช่วยวิจัย และอีกส่วนหนึ่งคือใจของผู้วิจัยเอง วงรอบทั้งห้ามีคำอธิบาย ดังนี้
รู้ใจบุคคลข้อมูล
ในงานภาคสนามถือได้ว่าบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดคือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ได้แก่นักดนตรี นักเพลง เจ้าพิธีกรรม และอีกหลายๆ คนที่รวมแล้วมีความหมายถึงผู้ให้ข้อมูลตรงของสาระข้อมูลที่นักวิจัยต้องการ การเข้าไปสัมภาษณ์ เข้าไปสังเกตการณ์ จนถึงบางครั้งมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกิดมีขึ้น วิธีการชั้นเป็นสิ่งดี และเป็นสิ่งที่นักวิจัยนำมาใช้เสมอ บางครั้งการดำเนินกิจกรรมเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ นักวิจัยอาจหลุดลืมไปว่าตนต้องหรือควรทำให้งานสำเร็จ หรือให้ได้ข้อมูลมากที่สุด ในหลายครั้งของการปฏิบัติการ บุคคลข้อมูลเองก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันว่า เขาควรรู้และเข้าใจมากกว่าที่นักวิจัยแนะนำตัวว่าเป็นผู้วิจัยและกำลังทำวิจัย สิ่งที่ซักๆ ถามๆ ทวนไปทวนมา เพื่อให้นักวิจัยจดบันทึก ทำการบันทึกเสียง ถ่ายภาพมุมต่างๆ แบบขยันบันทึก ขยันถ่าย ขยันถาม บรรยากาศในมุมกลับเช่นนี้ บุคคลข้อมูลย่อมข้อสงสัยใคร่รู้เช่นกันว่า สิ่งที่ว่าจะทำวิจัยนั้น บุคคลข้อมูลเหล่านั้นควรได้รับสิ่งใดตอบแทน นอกจากคำขอบคุณ ค่าตอบแทนบางจำนวน และผลประโยชน์ของเนื้องานที่นักวิจัยได้ไปจากบุคคลข้อมูลเหล่านั้น คืออะไร อย่างไร ทำไม เป็นต้น โดยเฉพาะการทำงานในงานภาคสนามที่มีข้อจำกัดของระยะเวลา เป็นมูลเหตุให้นักวิจัยกับบุคคลข้อมูลมีช่องว่างระหว่างความรู้สึกเหล่านั้นอยู่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจ และรู้ใจบุคคลข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่ควรกระทำ ในบางสถานการณ์นักวิจัยก็ต้องให้เวลา ใช้เวลา สร้างเวลา ระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อปรับความสงสัยหรือสร้างความกลมกลืนกับบุคคลที่ทำการศึกษาให้มากที่สุด
รู้ใจพวกเขา
บริบท เป็นคำที่ใช้ทั่วไปสำหรับการศึกษางานภาคสนาม บริบทมีหลายส่วนและหลายลักษณะ ในที่นี้ขอกล่าวถึงบริบทที่เป็นคนซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคสนามที่นักวิจัยทำการศึกษานั้น ถ้าเป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์และผ่านปฏิบัติการเสมอย่อมพบว่าผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ มักมีความสงสัย และสนใจเฝ้าดูปฏิบัติการของนักวิจัย เสียงพูดคุย สายตาที่จ้องมอง จ้องดู จ้องตากันเอง การเข้ามุงยืนล้อมวง ลักษณะไทยมุงจึงเป็นภาพที่เกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะเมื่อนักดนตรีบรรเลงเพลง ร้องเพลง การประกอบพิธีกรรม บางครั้งพวกเขาเหล่านั้นก็เฝ้าชมการบรรเลง ฟังเพลง ชมการแสดง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักดนตรีหรือนักเพลงบางท่านอาจหยุดการเล่นดนตรี ร้องเพลงมานานแล้ว จนพวกเขาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นความสามารถของศิลปินพื้นบ้านที่เป็นบิดา ลุง ป้า น้า อา เมื่อเห็นในวันที่นักวิจัยทำงาน อากัปกิริยา ความสนใจ อยากชม อยากฟัง ก็เกิดขึ้นไม่แตกต่างไปจากนักวิจัย เสียงต่างๆ ของพวกเขาบางครั้งจึงเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เช่น บางครั้งระหว่างการบันทึกเสียงดนตรีก็มีเสียงตะโกนเรียกลูกหลาน ลูกหลายคุยกันเอง จนเสียงดังสอดแทรกกับเสียงที่นักวิจัยต้องการบันทึก รวมไปถึงเสียงสตาร์ทเครื่องรถมอเตอร์ไซค์ พวกเขาผู้เป็นบริบทเช่นนี้นักวิจัยก็ต้องรู้ใจเขาด้วยว่า ความอยากรู้อยากเห็น ความไม่เป็นระเบียบ ต้องมีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพื่อการควบคุมให้สงบ ก็ยากที่จะห้าม และห้ามที่จะไล่พวกเขาอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นบริบทของความเป็นจริงแล้ว บริบทคือบุคคลที่เป็ฯพวกเขาส่วนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นที่ การควบคุมบรรยากาศจึงควรต้องมีวิธีการที่เป็นมิตรภาพ อาจใช้วิธีผ่านไปที่ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้ใหญ่ในที่นั้นให้ช่วยเหลือบรรเทาปัญหา เพราะผู้คนพวกเขาเกือบทั้งหมดในที่แห่งนั้นก็คือบุตรหลานของบุคคลข้อมูลเช่นกัน
รู้ใจผู้อำนวยงาน
ผู้อำนวยงานในที่นี้หมายถึง ผู้ที่เอื้ออำนวยให้การทำวิจัยภาคสนามของนักวิจัยประสบความสำเร็จ เป็นบุคคลที่ถือเป็นหลักของการทำงาน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อบต. นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ท่านเหล่านี้เป็นผู้บริหาร ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือท้องถิ่นแห่งนั้น ตามระบบของทางราชการ นักวิจัยควรรู้ว่าการเข้าพื้นที่นั้นๆ ต้องมีหนังสือแจ้ง หรือขออนุญาต เป็นส่วนสำคัญที่ต้องกระทำ เพราะการขออนุญาตจากผู้อำนวยงานเป็นการแสดงตน แสดงวัตถุประสงค์ ข้อดีคือบุคคลข้อมูลที่เป็ฯต้นแหล่งข้อมูลย่อมให้ความร่วมมือต่อการทำงานวิจัย นักวิจัยย่อมได้รับการต้อนรับ ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ปราศจากความหวาดระแวงของทุกฝ่าย ได้รับความสะดวก ได้รับความปลอดภัย ตลอดจนได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น เส้นทางลำเลียงยาเสพติด สิ่งของผิดกฎหมาย เป็นต้น
บุคคลที่เอื้ออำนวยงานอีกลักษณะคือ ผู้นำด้านจิตใจของชุมชน เช่น พระสงฆ์ โต๊ะครู ศาสนาจารย์ พ่อมด พ่อหมอ ผู้เฒ่า ประจำชุมชน หรือผู้นำชนเผ่า ในการทำงานสนาม นักวิจัยอาจพบผู้อำนวยงานทั้งสองลักษณะพร้อมกัน คือผู้นำตามระบบบริหารราชการของทางราชการและผู้นำด้านจิตใจ นักวิจัยต้องรู้ใจผู้นำทั้งสองระบบอย่างรู้ใจว่าควรต้องทำอย่างไร ในชุมชนจำนวนไม่น้อยที่ผู้นำด้านจิตใจมีอิทธิพลสูงกว่าผู้นำตามระบบบริหาร เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่บุคคลในพื้นที่ให้ความศรัทธา นับถือ เคารพ เชื่อฟัง ส่วนของการรู้ใจและควรกระทำก็คือนักวิจัยการหาโอกาสไปพบ แสดงความคารวะ เยี่ยมเยือน แนะนำตน หรือฝากเนื้อฝากตัว ซึ่งเป็นวิธีการที่วัฒนธรรมไทยมีสิ่งนี้พร้อมอยู่แล้ว จึงไม่สร้างความซับซ้อนให้แก่นักวิจัยแต่อย่างใด
รู้ใจพวกตน
การทำงานวิจัยภาคสนาม มีสาระข้อมูลงานเป็นจำนวนมากที่ต้องมีการทำงานมากกว่า 1 คน เช่น คณะนักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย คนขับรถ ตลอดจนถึงบุคคลที่นักวิจัยจ้างทำงานเฉพาะส่วน พวกตนคือกลุ่มวงรอบของนักวิจัยเอง งานประสบผลดีมากน้อยเพียงใดผู้ร่วมงานเหล่านี้สามารถช่วยได้เสมอ และอาจช่วยไม่เต็มที่ หรือสร้างปัญหาให้เมื่อต้องทำงานที่มีความซับซ้อน หรือทำงานต่อเนื่องกันยาวนานจนเกิดภาวะเครียด การรู้ใจพวกตน ให้กำลังใจ ยอมรับฟังความคิดเห็น อดกลั้นในบางเรื่อง ยอมในบางสิ่ง ลดในบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ประเด็นต่างๆ ดังกล่าวนี้มีสภาพเหมือนรู้ใจเขาใจเรา การปรับใจตนเองของนักวิจัยกับการเอาใจผู้ร่วมงานก็เป็นวิธีการที่ดีและควรนำไปปรับใช้ในการทำงานภาคสนาม
ใจตน
รู้สุดท้ายของการรู้ใจ เป็นการทำความเข้าใจตนเองให้กระจ่าง เพราะนักวิจัยบางคนอาจรู้จักผู้คนจำนวนมากมาย แต่สำหรับตนเองแล้วกลับรู้จักน้อยที่สุด ทั้งๆ ที่มีความสำคัญที่สุด อาจช้ำหรับบางคนว่าใกล้ที่สุดคือตัวเอง ไกลที่สุดก็ตัวเอง การรู้ในตนก็เพื่อใช้ชีวิตนักวิจัยสนามอย่างมีความสุข แม้บางครั้งมีความเหนื่อยล้า มีความท้อถอย ควบคุมตัวเองไม่อยู่ สมาธิในการทำงานมีจำกัด มีความเครียด ส่วนมากพบในกรณีของนักวิจัยที่มีข้อจำกัดของระยะเวลา ที่ต้องส่งรายงานผลวิจัยต่อแหล่งอุดหนุนทุน หากเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตก็ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา หรือเงื่อนเวลาที่ต้องทำวิจัยให้เสร็จก่อนหมดเวลาการศึกษาตามหลักสูตร การทำความรู้จักกับใจตนจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งเพื่อหาทางสร้างความสุขบนความเครียดให้ได้ ใครอื่นก็ไม่สามารถรู้ใจตนได้ดีเท่ากับใจตนเอง
ในวงรอบ 5 ประเด็นของรู้ใจ ตามทฤษฎี 5 เกลียวรู้นี้ นักวิจัยอาจใช้หลักพิเคราะห์ดูว่า อะไรคือต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาในด้านปฏิบัติการนั้น เกิดจากผู้คนกลุ่มต่างๆ ในงานสนาม เกิดจากวิธีการวิจัยที่ผิดพลาด เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่ชำรุดเสียหาย เกิดจากสภาพแวดล้อม หรือสภาวะของตัวนักวิจัยเอง ควรตรวจเจาะเสาะหาให้พบต้นเหตุ เมื่อพบแล้วก็แก้ปัญหาในจุดหรือตำแหน่งนั้นๆ เมื่อแก้ได้แล้วก็ต้องไม่ให้ปัญหานั้นหวนย้อนกลับมาอีก โดยวิธีรวบคิดก็คือ ปัญหาเกิด ค้นให้พบสาเหตุของปัญหา แก้ปัญหาให้ตรงปัญหา และไม่ควรให้เกิดปัญหาซ้ำเดิม เท่านี้ก็สามารถทำงานวิจัยต่อไปอย่างมีความสุข.
ตอนที่ 4 "รู้ลึก รู้จริง"
ความสำคัญของทฤษฎี 5 เกลียวรู้ ที่จัดว่าเป็นหัวใจของขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการศึกษางานดนตรีภาคสนาม คือ ประเด็นของการรู้ลึกและรู้จริง ทั้ง 2 ขั้นตอนนี้เป็นความสอดคล้องและคู่ขนานที่สืบเนื่องมาจากส่วนที่เรียกว่ารู้จักและรู้ใจ เสมือนเป็นการเคลื่อนเข้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องมีการตระเตรียมและอุ่นความพร้อม ตรวจสอบในสิ่งที่ต้องรู้จัก พิจารณาแนวทางของบุคคลต่างๆ ที่รายรอบเนื้องานด้วยการรู้ใจ เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการที่เหมาะสม ดังนั้นขั้นตอนต่อไปนี้จึงเป็นส่วนที่เรียกในภาษาวิชาการดนตรีวิทยาว่า วิธีวิทยา (Methodology) การรู้ลึกมีนัยของคำที่มีความหมายครอบคลุมถึง ความลึกในความรู้ เพื่อนำไปยังความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน มากกว่าระดับเบื้องต้น มากกว่าระดับพื้นฐาน มากกว่าระดับก้าวหน้า ความมากนั้นอยู่ในระดับของความรู้จริงที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน เป็นหลักกำหนดประกันว่ามีความคงที่ เชื่อถือได้ทั้งของส่วนที่ลึกและส่วนที่จริง
การรู้ลึกและรู้จริงในเนื้อสาระนั้น เกิดขึ้นได้กับนักวิจัยดนตรีภาคสนามหลายวิธีด้วยกัน เช่น การเข้าถึงข้อมูลด้วยการศึกษาสืบค้นจากแหล่งความรู้ต่างๆ การฟังคำบรรยาย คำอธิบาย การร่วมอภิปราย ข้อมูลจากการระดมสมองของกลุ่มนักวิชาการ การได้มาโดยตรงจากประสบการณ์ของนักวิจัย ฯลฯ มวลรู้ทั้งหลายทั้งปวงจึงหลอมรวมเข้าสู่กระบวนความคิดกระบวนความจำที่เรียกอย่างภาษาวิชาการว่าบูรณาการ สามารถนำมาปรับให้เข้ากับงานวิจัยที่นักวิจัยต้องการได้ทันทีและอย่างถูกต้อง
ในการวิจัยงานดนตรีภาคสนาม เมื่อรู้ลึกและมีความรอบรู้แล้วส่วนที่มีความสำคัญและต่อเนื่องขั้นต่อมาคือความสามารถในการนำไปสู่ภาคปฏิบัติ เป็นความสัมพันธ์แบบห่วงโซ่ ประเด็นของแนวคิดนี้มี 4 ส่วนหลัก ดังปรากฏตามแผนภูมิประกอบคำอธิบาย ดังนี้
