ReadyPlanet.com
dot dot
bulletHome
dot
Group Menu
dot
bulletบริการของเรา
bulletสนทนาภาษาดนตรี
bulletสินค้าของเรา
bulletนานาสาระ
dot
Newsletter

dot
bulletgoogle.com
bulletpantip.com
bulletMahidol University
bulletวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
bulletintranet.sasin.edu/thaimusicclub
bullethttps://www.facebook.com/smusichome




นัยสำคัญของเพลงพิธีกรรม

นัยสำคัญของเพลงพิธีกรรม

           

รศ.ณรงค์ชัย  ปิฏกรัชต์

 

จินตนาการและสัญลักษณ์  เป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนของสังคมมนุษย์  เกิดมีขึ้นในทุกกลุ่มชนทุกชาติทุกภาษา  ความเป็นมนุษย์มีแตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ คือความพิเศษที่ธรรมชาติให้มา  มนุษย์มีความจริงและความไม่จริง  มีความรู้และความไม่รู้  มีสิ่งที่สัมผัสได้และสัมผัสไม่ได้ มีสิ่งที่น่าเชื่อและสิ่งที่เหลือเชื่อ  มีสิ่งที่อยู่ด้านหนึ่งและสิ่งอยู่ตรงข้าม  สลับทับสลับเสริมจนเกิดความกลมกลืนกันกลายเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรมของกลุ่มชนไปในที่สุด

มนุษย์ทุกกลุ่มชนในโลกมีความเชื่อโลกของจิตวิญญาณ  เชื่อโลกของนามธรรมกันทั้งสิ้น  สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของความนึกคิดและจินตนาการ  มนุษย์เชื่อโลกของอดีตชาติ  การเวียนว่ายในวัฏสงสาร  เชื่อในพระเจ้า  เชื่อในแถน  ผีฟ้า  เทพยดา  เชื่อในวิญญาณของบรรพชน  เชื่อในพลานุภาพของสิ่งศักดิ์สิทธิ์  การที่มนุษย์มีความเชื่อเพราะมนุษย์มีความไว้ใจ    เห็นคล้อยตาม  ศรัทธา  นับถือ แม้ว่าสิ่งนั้นยังคงไว้ในจิตที่รู้สึกหรือนึกคิดก็ตาม  การปรับแปรสภาพจากความคิดและจินตนาการให้เป็นสัญลักษณ์ทางรูปธรรมมีเกิดขึ้นอย่างมากมาย  การวาด  การขีด  การเขียนภาพตามผนังถ้ำ  แกะสลักไม้  ก้อนหิน  ไปจนการหลอมโลหะให้เป็นรูปสิ่งเคารพ  การอ่าน  การสวดคัมภีร์  สวดพระธรรมบท  ก็จัดอยู่ในวิธีการตามความเชื่อว่าสายเสียงที่พรั่งพรูจากการสวดบริกรรมนั้น  สามารถติดต่อเชื่อมโยงไปสู่โลกของความเชื่อที่ตนมีอยู่ได้ 

การสวดบริกรรมหรือบูชา  เป็นสิ่งที่กระทำได้เมื่อเป็นความต้องการของการสาธยายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างมนุษย์ในโลกรูปธรรมกับจิตวิญญาณในโลกนามธรรม  ส่วนการรับรู้จะนำไปถึงการสื่อสารหรือไม่นั้น  ไม่มีใครทราบได้  เพราะไม่มีคำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์  ดูเหมือนไม่มีเหตุผล  ในความจริงแล้วก็มีเหตุผล  เพียงแต่เหตุผลนั้นไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดหรือหลักฐานตามที่วิทยาศาสตร์อธิบายได้  เหตุผลของความเชื่อของจิตนามธรรมจึงหยั่งรู้ด้วยวงล้อมของวัฒนธรรมของสังคมที่หล่อหลอมร่วมกันในสังคมหนึ่งๆ เป็นกระบวนการรับรู้ในเชิงมนุษยจิตตารมณ์  เป็นพื้นภูมิภวังค์ที่เกิดขึ้น  จากจุดนี้ยังส่งผลให้มนุษย์ได้พัฒนาความคิดบนฐานจินตนาการว่า  สิ่งใดคือพลังที่น่าจะมีความเป็นไปได้   

การสวดบูชาเป็นการบอกเล่าพรรณนาความของบุคคลเจ้าพิธี  มีการใดที่สามารถส่งกระจายกระแสสาธยายได้นอกจากการเลือกใช้เสียงใดเสียงหนึ่งมาทำหน้าที่    ด้วยแนวคิดและภูมิปัญญานี้จึงเกิดการนำเสียงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม  สิ่งใกล้ตัวและพบเห็นได้ในหลายสังคมวัฒนธรรมคือการใช้เสียงที่เกิดจากการตี  มีฆ้อง- กลอง  เป็นเครื่องมือสำคัญ  ในขณะเดียวกันก็ปรากฏการใช้เครื่องเป่าที่เรียกว่าปี่เข้ามาร่วม  ท้ายที่สุดก็ประสมเป็นวงดนตรี  จากเดิมที่มีเสียงเพียงเสียงเดียวก็เพิ่มเสียงมากขึ้นจนเป็นทำนอง  มีเนื้อคำดีๆ มีความหมายตรงใจ เข้ามาขับร้อง  และผสมผสานจนมีระเบียบวิธีของเป็นพิธีกรรมและสืบทอดต่อกันมา

บทเพลงที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม  ได้สร้างความสมบูรณ์ให้แก่พิธีกรรมอย่างมาก  กระบวนการของพิธีกรรมเมื่อประกอบขึ้นจัดเป็นกาลปัจจุบัน  ผู้ประกอบพิธีกรรมดำเนินกิจพิธีในกาลปัจจุบัน  เช่นเดียวกับผู้ร่วมพิธีกรรมก็อยู่ในกาลปัจจุบันเช่นกัน  ทุกคนอยู่ในจุดร่วมและมีเป้าหมายเดียวกัน มีเพลงเป็นสัญลักษณ์สื่อรู้  สัมผัสรู้ร่วมกัน  อยู่ในจินตนาการสมมุติเดียวกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้คนในแต่ละสังคมวัฒนธรรม  ก็ย่อมมีวงล้อมของสัญลักษณ์และจินตนาการ  คนต่างวงล้อมจึงอาจไม่รับรู้คุณค่าและความหมายนั้นได้ดีเท่าคนในวงล้อมเดียวกัน

พิธีกรรมของดนตรีไทย หรือพิธีกรรมที่มีดนตรีไทยเข้าไปมีบทบาทขับเคลื่อน  อยู่ในแนวคิดที่นำเสนอข้างต้น  ครูอาจารย์ดนตรีได้จินตนาการให้เพลงพิธีกรรมสื่อบอกกิริยาสมมุติ  เมื่อเริ่มต้นการประกอบพิธีตามประเพณี เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่  งานบวชนาค  งานสมโภช  หรืองานใดๆ ที่มีวงปี่พาทย์ไปบรรเลงประโคม  การบรรเลงเพลงโหมโรงคือสัญญาณบอกให้ทุกคนรับรู้ว่า ณ บัดนี้ กิจกรรมได้เริ่มขึ้นแล้ว  ฉากของกิริยาสมมุติได้ทำหน้าที่พร้อมกับเสียงเพลงที่ดังขึ้นนั้น  ทุกเพลงในชุดโหมโรงมีนัยของการกราบบูชาพระรัตนตรัย  การเชิญเทพยดาให้เสด็จลงมาสู่งาน การเดินทางด้วยริ้วขบวนเทพยนิกร  การประสาทพร  และเสด็จกลับ  นำสิริมงคลมาสู่เจ้าภาพและแขกเหรื่อที่ไปร่วมงาน ทุกคนอาบอิ่มในปิตินั้น

เพลงที่จินตนาการเป็นกิริยาสมมุติ  มีชื่อเรียกกันว่าเพลงหน้าพาทย์  สำหรับนิยามของเพลงหน้าพาทย์ครอบคลุมการประกอบอากัปกิริยาที่ศิลปินจินตนาการ  โดยใช้ลีลาเสียง  จังหวะเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อ  จนเมื่อกระแสความเชื่อของผู้คนในวงวัฒนธรรมสอดคล้องตรงกัน  เพลงนั้นก็มีนัยสำคัญเป็นกลไกผสานความรู้สึก  ความเชื่อ  ร่วมกัน  เพลงพิธีกรรมที่สะท้อนความเป็นเพลงหน้าพาทย์พิธีกรรมและโดดเด่นมากที่สุดคือ  เพลงหน้าพาทย์ที่ครูผู้ทำพิธีไหว้ครูเรียกเมื่อกล่าวกราบบูชา  อัญเชิญครูเทพเจ้า  และคุณครูดนตรีทั้งหลายมาสู่มณฑลพิธี

การเสด็จมาของเทพเจ้าและคุณครูดนตรี  หรือการกระทำกิริยาสมมุติในพิธีกรรมไหว้ครูเป็นสัญลักษณ์เพลงที่มีนัยสำคัญ  เช่น  เมื่อเสียงตะโพนดังนำขึ้น  ติง ถะ ตุ๊บ ติง ตุ้ม  แล้วต่อด้วยทำนองเพลง  เป็นการอัญเชิญพระประคนธรรพ  เพลงที่บรรเลงก็คือเพลงตระพระประคนธรรพ  ซึ่งวงการดนตรีไทยนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งดนตรี   เครื่องดนตรีประจำองค์ของท่านคือตะโพน  การมาของครูฤๅษีใช้เพลงเสมอเถร  การชุมนุมของทวยเทพเจ้าใช้เพลงตระสันนิบาต  เป็นต้น  ทุกครั้งที่เพลงหน้าพาทย์ไหว้ครูดังขึ้น  อาการของนักดนตรีไทยที่นั่งร่วมในพิธีต่างยกมือพนมพร้อมก้มลงแสดงความเคารพ  บางรายอาจจะนั่งพนมมือเช่นนั้นไปตลอดจนเพลงจบ  และทุกคนก็กระทำซ้ำอีกครั้งเมื่อได้ยินเพลงรัวดังขึ้น  อาการที่ทำเช่นนั้นเพราะนักดนตรีในวงวัฒนธรรมดนตรีไทยต่างรับรู้ว่านัยสำคัญของเพลงที่เริ่มขึ้นนี้คือการกล่าวบูชาอัญเชิญ  การรับรอง  การเสด็จมาของครูเทพเจ้า จนถึงเมื่อเพลงรัวดังขึ้นต่อท้าย   ทำนองของเพลงจึงต่อเนื่องจินตนาการสมมุติที่หมายถึงการปรากฏของเทพเจ้าพระองค์นั้น  ดังนั้นเพลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครูส่วนมากจึงต้องต่อท้ายด้วยเพลงรัวเสมอ  ยกเว้นบางเพลง  เช่น เพลงนั่งกิน  เซ่นเหล้าที่ไม่มีเพลงรัวต่อท้ายเนื่องจากเป็นเพลงที่รองรับกิริยาสมมุติสำหรับการเสวยเครื่องกระยาสังเวยนั้น

การสร้างสรรค์บทเพลงแห่งจินตนาการ  นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของคุณครูอาจารย์ดนตรีไทย  ที่ได้ปรุงรสเพลงให้สอดคล้องกับขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม  เพลงจึงทำหน้าที่เสริมความสมบูรณ์ให้แก่พิธีกรรม  ในขณะเดียวกันก็สร้างความสุขให้แก่ศิษย์หรือผู้เข้าร่วมพิธีได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตา  ทำบุญกุศลแด่คุณครูอาจารย์  และได้รับพรสิริมงคลไปพร้อมๆ กัน.   

 

                                                                                    29 กรกฎาคม 2550




นานาสาระ

ขิมไทย : ขิมโลก
เขียนโน้ตดนตรีไทย ด้วยโปรแกรม Exel
วิธีการผูกสายขิม article
ดนตรีในงานประเพณีปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล เชียงใหม่
ดนตรีชนเผ่าที่เซกอง ประเทศลาว
เพลงพื้นบ้านบางเลน นครปฐม : พ่อเฒ่าบุญช่วง ศรีรางวัล
ทฤษฎีความสอดคล้องกับการวิจัยขั้นสูง
นัยดนตรีสร้างส่วนสัมพันธ์ของจิตให้สัมบูรณ์
คุณค่าสุนทรียรส และสัจจศิลป์ที่ปรากฏในบทเพลง
ศิลปินบรรเลงเพลงไพเราะยิ่ง
ภวารมณียะ ที่อยู่ในทำนองเพลง
ทฤษฎี 5 เกลียวรู้ : แนวการวิจัยภาคสนาม
บรรเลงเพลงพิธีกรรม
การวิวัฒนาการของกีตาร์คลาสสิก
การเล่นเพลงบรรเลงประโคม
ดนตรีบวงสรวงเทพารักษ์ : เจ้าพ่อขุนทุ่ง
ราชทินนามของนักดนตรีไทย
ภูมิบ้านภูมิเมืองกับการปกป้องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ISMI : การประชุมดนตรีศึกษานานาชาติ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โครงการภูมิบ้านภูมิเมือง article
การสัมมนาการศึกษาดนตรีระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย article
การศึกษาดนตรีไทย article
การถ่ายทอดดนตรีในสถานศึกษา article



บ้านดนตรีครูสมชาย 929/12 k akachai Rd., mahachai muang ,samutsakhon 74000. TEL.081-3330147 Copyright © 2015 All Rights Reserved.