ภวารมณียะ ที่อยู่ในทำนองเพลง
เพลงในความหมายที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือหน่วยเสียงที่เรียบเรียงแล้วซึ่งความสมบูรณ์แห่งจินตนาการ จนเกิดการขับเคลื่อนของลีลาของระดับเสียง มีจังหวะที่กำหนดดำเนินไปตามบทแห่งทำนองอันเป็นภว คือความเกิด และความเป็นไป นำมาสู่มิติรมณีย์ที่น่าอภิรมย์ บันเทิงใจ หรือเกิดความพึงใจของผู้รับรสที่หลากหลายกัน โดยรส (ระสะ) ก็มิได้ย้ำยึดว่าองค์ของความเป็นบทแห่งทำนองนั้นต้องหยุดอยู่ที่ความคึกคัก เร้าเริง ระทึกใจ แต่รสมีความขยายไปถึงมิติที่ปกคลุมด้วยอารมณ์ของความโศกเศร้า วังเวง นำมาสู่ความพึงใจของผู้รับด้วย ขึ้นอยู่กับภวารมณียะของแต่ละบทเพลง
นักประพันธ์เพลง ที่เรียกกันว่านักแต่งเพลง ดุริยกวี สังคีตกวี นักคอมโพสเซอร์ (Composer) หรือชื่อที่สื่อในแนวนี้ บุคคลผู้ได้รังสรรค์เพลงเหล่านี้เป็นผู้คงไว้ซึ่งทิฏฺฐิปทา ที่จัดเข้าเป็นเนื้อนำของความรอบรู้ หลักการ ความสมเหตุสมผล ความรู้คิด ความรู้จำ และความรู้ในกระบวนการของวิชาการประพันธ์เพลง มีอยู่ 3 ภาคส่วน คือ ทักษะในเชิงปฏิบัติการดนตรี ความพร้อมครบแห่งทิฏฺฐิปทา และพรรังสรรค์กับความว่างที่เป็นหนทางของการสร้างภวารมณียะ โดยพรรังสรรค์นี้อาจจะเป็นพรสวรรค์หรือพรแสวงก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เป็นต้นทุนซึ่งมีอยู่เฉพาะในตัวของนักประพันธ์เพลงแต่ละคน ในการปรุงหน่วยเสียงแห่งจินตนาการให้บังเกิดขึ้น
หน่วยเสียง จำแนกได้ 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็นเสียงที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของผู้คนทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ บางครั้งก็ให้ความงามในสีสันของเสียง ดังพบจากเสียงร้องของนก แมลง ฯลฯ เสียงสั่นไหวของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ในขณะที่บางครั้งเป็นเสียงของการทุบกระแทก ตีต่อย หรือยวดยานที่ขับเคลื่อนอยู่บนเส้นทางจราจร เป็นต้น หน่วยเสียงอีกส่วนหนึ่งเป็นเสียงที่ปรุงแต่งแล้ว โดยนักประพันธ์เพลง และผ่านปฏิบัติการของศิลปินดนตรี เป็นเสียงในวงนิยามหนึ่งของความเป็นดนตรี
รหัสลับของหน่วยเสียงในความหมายของภวารมณียะนี้ เป็นศาสตร์ที่ต้องมีการศึกษากันมีการสืบทอดทั้งในวิธีการแบบมุขปาฐะ และที่ร่ำเรียนกันบ้างในระบบการศึกษา ความรู้นี้นำไปสู่การสร้างอารมณ์เพลงอย่างน่ามหัศจรรย์ ถ้าอรรถาธิบายอย่างเป็นรูปธรรม ก็มีตัวอย่างให้นึกถึงสิ่งที่อ้างนี้ได้ เช่นการทำหน่วยเสียง 2 เสียง ให้สั่นสลับกันอย่างเร็วๆ ที่เรียกกันว่า trill ในบางตำราก็ใช้ว่า Trillo บ้าง Triller บ้าง อย่างที่กล่าวนี้ ถ้าเขียนเป็นโน้ตสากล ตอนบนของบรรทัด 5 เส้น มีสัญลักษณ์ใช้ว่า tr
เป็นการบอกว่าระหว่างปฏิบัตินั้นต้องเล่นโน้ต 2 ตัวสลับกันอย่างเร็ว เสียง 2 เสียงหรือโน้ต 2 ตัวนี้ ตัวที่ทำหน้าที่ให้เสียงหลักคือโน้ตตัวล่าง การตกแต่งเสียงเป็นหน้าที่ของโน้ตตัวบน เช่นเดียวกับหลักการกรอของเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตี เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ก็เริ่มต้นเสียงจากมือซ้ายก่อนเสมอ เสียงสั่นพลิ้วอย่างเร็วเช่นนี้ ช่วยหน่วงอารมณ์ให้รู้สึกสนุก อาจจะสยองขวัญ อาการสั่นระริกของหัวใจที่เคล้าไปกับเสียงที่ได้ยินนั้น
หน่วยเสียงที่ทอดยาวในระดับเดียวกัน ที่พบและได้ยินได้ฟังกันคือเสียงเสพของแคน หรือเครื่องเป่าตระกูลแคนที่ชาวเขาหลายกลุ่มชาติพันธุ์เป่ากัน เช่น เค่งของชาวม้ง เป็นต้น หรือเสียงของรือบับของนักดนตรีในวงมะโย่ง วงดนตรีของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส หรือในดินแดนมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเสียงที่เกิดจากการเป่าปี่สก๊อตของแดนผู้ดีชาวอังกฤษ รวมทั้งที่นักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป่ากัน ลักษณะที่กล่าวนี้ เสียงที่ดังออกมาเป็นเสียงคราง หรือหึ่งออกมา คล้ายเสียงผึ้งบินวนไปมา หรือถ้าต้องการให้ได้ความรู้สึกเช่นที่กล่าวนี้ก็ลองก้มหัวลงในตุ่มน้ำพร้อมกับเปล่งเสียงให้ทอดยาวๆ หรือลองพูดเสียงให้ต่ำและดังลึกก็ได้ ซึ่งก็ให้ความรู้สึกและอารมณ์ไปในทิศทางเดียวกัน ดนตรีสากลเรียกเสียงอย่างนี้ว่าเสียงโครน (Drone) นับเป็นเสียงมหัศจรรย์ที่ปรุงอารมณ์ไปในลักษณะร่าเริง ให้ความสุข
หน่วยเสียงต่ำ ดังลึก นี้อยู่ในศาสตร์เสียงที่นำมาปรุงใช้ในทำนองเพลงที่ต้องการความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ สง่า แสดงอำนาจราชศักดิ์ หรือแนวทำนองที่โน้มนำให้รู้สึกศรัทธา เกิดความมั่นคงแก่จิตใจ ปรากฏในทำนองเพลงหน้าพาทย์หลายเพลง ที่นักประพันธ์เพลงดำเนินกลอนทำนองให้ลงสู่ห้วงอารมณ์เช่นที่กล่าว บางเพลงเน้นที่ความหนักแน่นของทำนอง โดยให้กลอนเพลง เคลื่อนทำนองไปอย่างช้าๆ มีจังหวะที่มั่นคง ก่อให้เกิดความรู้สึกเคารพ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเพลงสรรเสริญพระบารมี
สำหรับหน่วยเสียงที่เคลื่อนทำนองอย่างเร็ว สลับสับสอดไปมา คละเคล้ากับจังหวะที่ เลียนลีลาของสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามจินตนาการ เช่น เสียงวิ่งโลดไล่ของสรรพสัตว์กลางพนาป่ากว้าง เสียงคลื่นในทะเลที่กำลังโหมกระหน่ำ เสียงรถยนต์ รถไฟวิ่งกระชากกระชั้นบนราง นี่หากเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งแม้จะรวดเร็วแต่ก็เงียบ นักประพันธ์เพลงร่วมสมัยในศตวรรษนี้คงต้องแสวงหาความเร็วและค่อนไปทางเงียบสำหรับรังสรรค์สีสันให้อารมณ์แห่งห้วงจินตนาการนี้ด้วย
ภวารมณียะ ที่ปรากฏในทำนองเพลงนับเป็นส่วนของคุณค่า ของความล่วงรู้รหัสเสียงกับภาวะจิตที่แต่ละเพลงได้ผ่านกระบวนการปรุงมาแล้ว นักประพันธ์เพลงจึงเป็นบุคคลผู้มีความสามารถเหนือความมหัศจรรย์ของหน่วยเสียง และทิฏฺฐิปทาในการไขรหัสลับ รังสรรค์ให้เกิดการปรุงแต่งรสเพลงมาสู่รมณียะที่น่าอภิรมย์ พึงใจ จึงไม่แปลกเลยที่ผู้รู้ในอดีตและปัจจุบันหลายท่านกล่าวสอดคล้องกันว่า ดนตรีเป็นโลกทิพย์ และวิชาของนักปราชญ์.