บรรเลงเพลงพิธีกรรม
รศ.ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อมีการประกอบพิธีไหว้ครูดนตรีที่สถาบันการศึกษาดนตรีแห่งหนึ่ง วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่วงหนึ่งบรรเลงเพลงที่คุณครูผู้ทำพิธีเรียกเมื่อท่านกล่าวคำบูชาครูจบลงของแต่ละช่วงตอน ระนาดเอกผืนไม้ชิงชันที่กร่อนร่องเห็นเสี้ยนตามแนวกลางผืนเพราะได้ผ่านไม้แข็งกวาดตีมาอย่างโชกโชน ระนาดผืนนั้นเริ่มสะเทือนพลิ้วอีกครั้ง เมื่อนักระนาดเอกซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นใหญ่บรรเลงเพลงตามการเรียกเพลงหน้าพาทย์ของคุณครูผู้ทำพิธี นักดนตรีเริ่มการตีกรอ ตีเก็บ ถ้าการดำเนินกลอนเพลงเหมือนเมื่อปีกลายหรือปีก่อนๆ ก็น่าจะไม่ต้องกล่าวถึง แต่การดำเนินกลอนในวันนี้ออกแนวเก็บขยี้ โลดไล่ไปตามลีลาเพลง อย่างรุกเร่ง ให้ความรู้สึกที่รุกเร้า แสดงความไหวของนักระนาด วิธีการบรรเลงเช่นนี้ทำให้คุณครูดนตรีผู้ใหญ่หลายท่านที่เข้าร่วมพิธี รวมทั้งหัวหน้าครูของครูด้วย ท่านหันไปมองวงบรรเลงอย่างตั้งใจ สีหน้าไม่บ่งบอกว่าท่านพอใจหรือไม่พอใจกับความสามารถในการบรรเลงของนักระนาดรุ่นใหญ่ผู้เป็นศิษย์
วันรุ่งขึ้นตรงกับวันศุกร์ คุณครูผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้าครูของครู ได้ประชุมนักศึกษาดนตรีและนักเรียนดนตรีรุ่นน้องด้วย คุณครูท่านกล่าวคำชื่นชมกับความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ของนักดนตรีทุกคนในวงเมื่อวันวาน ทำให้รอยยิ้มปรากฏของนักดนตรียิ้มด้วยความปลื้มใจ รวมทั้งนักศึกษาและนักเรียนดนตรีคนอื่นๆ ที่นั่งพับเพียบอยู่ในห้องดนตรีนั้นด้วย คำชมเป็นคำที่ให้พลังแก่ศิษย์ เหมือนรางวัลของความสำเร็จ จากคำลอยของคำชมเว้นว่างสักครู่หนึ่งจึงมีเสียงเปล่งออกมาจากคุณครูว่า แต่ ... แต่ไม่ใช่การตีระนาดที่เป็นไปเพื่อประกอบพิธีกรรมอย่างพิธีไหว้ครู เพราะวิธีการเช่นนั้นผิดแนวเพลง ไม่ถูกต้องด้วยกาลเทศะ การตีระนาดที่เธอตีนั้นเป็นการแสดงฝีมือ แสดงความรู้ความสามารถของนักดนตรี
พิธีไหว้ครูเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องการบรรยากาศความขลัง กลอนเพลงที่ผูกไว้กำหนดให้ตีเป็นช่วง ตามอารมณ์เพลงที่จินตนาการไว้ อารมณ์เช่นนี้ต้องคงไว้ ไม่ดำเนินกลอนให้โลดโผน น้ำหนักของเสียงที่สร้างเสียงเป็นสิ่งจำเป็น แนวของฆ้องวงใหญ่ที่เรียกว่าลูกฆ้องต้องเด่นลอยแทรกเสียงทำนองของเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ เพราะถือว่าเป็นเสียงที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและจิตใจของผู้อยู่ในมณฑลพิธี ลูกฆ้องที่ตีกลอนห่างตามเนื้อเพลงและย้ำหนัก เสียงที่ดังออกมาย่อมก่อให้เกิดความกังวานเป็นใยเสียง เสียงที่ลอยดังกังวานนี้เมื่อผสมผสานเข้ากับเสียงโหยหวนของปี่ใน ก็จะช่วยให้อารมณ์เพลงมีความเหมาะสมกับความเป็นเพลงพิธีกรรม ระนาดเอกมีแนวกลอนบังคับ บางช่วงให้ตีกอดลูกฆ้อง บางช่วงเมื่อถึงควรเน้นน้ำหนักเสียงต้องทำ เพราะสอดคล้องกบจุประสงค์ของทำนองเพลง
คำอธิบายของคุณครู ไม่แสดงความรู้สึกว่าท่านไม่พอใจ ไม่แสดงอาการดุ เหมือนทุกครั้งที่ท่านดุ ดุจนนักศึกษากลัว แม้ว่ารักเคารพก็ผสมปนกัน คำอธิบายครั้งนี้จึงดูจริงจัง ถ้อยคำที่ยกมาอธิบายมีตัวอย่างเสริม จึงช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน เป็นหลักวิชาการดนตรีไทยที่ต้องจดจำ และเป็นวิธีสอนที่ไม่ทำลายความเชื่อมั่นของนักศึกษาดนตรี การที่ท่านไม่แสดงออกอาการดุต่อหน้าผู้เข้าพิธีเมื่อวันวานซึ่งมีคนจำนวนเกือบสองร้อยคน เมื่อแรกนั้นต่างก็คิดกันว่าคุณครูท่านคงชอบ จึงขยี้ทั้งกลอนเพลงและอารมณ์ดังประหนึ่งการเล่นแนวเพลงเสภา วงบรรเลงก็ขานรับกันด้วยไม่เข้าใจปรัชญาของเพลงพิธีกรรม
เพลงหน้าพาทย์ในพิธีไหว้ครู เป็นเพลงพิธีกรรม มีนัยของการน้อมบูชา เน้นย้ำความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ มีลำดับขั้นตอนของอาการกิริยาที่จินตนาการขึ้น เพื่อการอัญเชิญครู เพื่อรับครูเข้าสู่มณฑลพิธี เพื่อการชุมนุมครูในมิติของความเป็นสิริมงคล มาร่วมอำนวยพร รับเครื่องสังเวยกระยาบวช เสียงเพลงที่วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงพิธีกรรมจึงมีบทบาทในการเป็นสื่อเชื่อมโยงองค์ประกอบที่กำหนดในบรรยากาศเช่นนั้นให้สมบูรณ์

--------------------------------------------------