ReadyPlanet.com
dot dot
bulletHome
dot
Group Menu
dot
bulletบริการของเรา
bulletสนทนาภาษาดนตรี
bulletสินค้าของเรา
bulletนานาสาระ
dot
Newsletter

dot
bulletgoogle.com
bulletpantip.com
bulletMahidol University
bulletวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
bulletintranet.sasin.edu/thaimusicclub
bullethttps://www.facebook.com/smusichome




การเล่นเพลงบรรเลงประโคม

 

อคฺฆตุริยตาฬิตวาทิตานํ

รศ.ณรงค์ชัย  ปิฎกรัชต์

 

 


                                     การเล่นเพลงบรรเลงประโคม

 

                 การทำให้บทเพลงและดนตรีเคลื่อนดังออกมาเป็นเสียงต่างระดับ  สลับสับสอดกันได้ดั่งใจได้นั้น ระบบและกระบวนการมีความซับซ้อนเกินกว่าที่คิด ความเหมาะสมที่เรียกว่าดุลสัมพันธ์  นับได้ว่าเป็นตำแหน่งของความพอดี  ความลงตัวของการผูกไว้ซึ่งสิ่งที่จินตนาการ  สิ่งที่สัมผัส  และสิ่งไร้รูป  ดุลสัมพันธ์นี้คือพลังสำคัญที่นำไปสู่ผลรวมลัพธิที่ปรากฏในการได้มาของสุนทรียภาพ

                ดุลสัมพันธ์ของพลังสำคัญที่ว่านี้ต่างเอื้อต่อกัน  มองอีกมุมหนึ่งก็คือความเป็นตรัยจรวัตน์ หรือ ความสอดคล้อง 3 ส่วน สิ่งนี้คือวิถีความเป็นไปตามผลการกระทำของนักดนตรี  ความสามารถสำหรับการเป็นนักดนตรีมิได้เกิดโดยพลัน  แต่นักดนตรีทุกคนได้ผ่านการเรียนรู้   ฝึกฝนมาอย่างดี  ปฏิบัติการของผู้กระทำให้เคลื่อนซึ่งเสียงที่เรียงร้อยแล้ว  เป็นขั้นตอนที่ผ่านระบบความทรงจำดังเรียกกันว่าแม่นเพลงและแม่นใจ  ส่งสู่การสัมผัสแหล่งกำเนิดเสียง  เรียกกันว่าเครื่องดนตรี  มีวิธีหลากหลายสำหรับปฏิบัติการให้เกิดเสียงต่างระดับเสียง เครื่องดนตรีแต่ละชนิดจึงมีวิธีที่ถูกสร้างเสียงด้วยการสีตีดีด  กรีดชักเป่า  เขย่ากดขูด  ดูดกรอกเขี่ย  ไปจนถึงการเปล่งเสียงเรียงคำของคีตกร  

                สิ่งที่เห็นด้วยตาคือภาวะของศิลปินในรูปของตาฬิตฺ  เชื่อมโยงไปสู่การสัมผัสที่ฝึกปรือจนมีทักษะ มีความพร้อมในภาวะของบทเพลงที่เรียกว่าแม่นมือ  เหล่านี้คือรูปธรรมที่ปรากฏออกมา  ผลของดนตรีเป็นสิ่งไร้รูปแต่ปรากฏออกมาเป็นเสียง  เป็นเสียงที่ลำดับแล้วซึ่งความความพึงพอใจของตรัยจรวัตน์  ระหว่างดุลสัมพันธ์ที่ปรากฏตามแผนภูมิ ดังนี้

 

                      

 

ศิลปิน

แหล่งเสียง

บทเพลง

ตาฬิตวา

แม่นมือ/แม่นใจ

แม่นเพลง

พึงพอใจ

ตาฬิตวา

ตรัยจรวัตน์

ดุลสัมพันธ์

ศิลปิน

แหล่งเสียง

บทเพลง

ตาฬิตวา

แม่นมือ/แม่นใจ

แม่นเพลง

พึงพอใจ

ตาฬิตวา

ตรัยจรวัตน์

ดุลสัมพันธ์

ความพึงพอใจเป็นผลของ รสมือและรสเพลง  ฟังดูเหมือนการเลือกคำมาใช้ว่ารสมือรสเพลง  เพราะไปเทียบกับคำว่าลองลิ้มชิมรสของอาหารที่มีการเชิญชวน  รสมือรสเพลงเป็นคำที่มีใช้มานานและเข้าใจกันเป็นอย่างดีในวงการดนตรีไทย คำนี้มีอธิบายในเกณฑ์มาตรฐานดนตรีไทยของทบวงมหาวิทยาลัย  เมื่อครั้งที่ยังมิได้รวมเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการ  การปรุงรสมือให้ได้รสเพลงนั้นเป็นการประสานอย่างสอดคล้องระหว่างความแม่นมือ  แม่นเพลง  และแม่นใจ  คุณครูดนตรีบางท่านมีความพิถีพิถันในการสร้างความกลมกลืนของระบบเสียง จังหวะ และทำนอง  จึงมุ่งเน้นไปที่การปรับวง  นับเป็นศาสตร์ขั้นสูงที่ต้องเรียนรู้กันอย่างจริงจัง

                การกระทำกับเครื่องดนตรีด้วยวิธีต่างๆ  ให้เกิดทำนองเพลง มีคำหลายคำที่ใช้สื่อความหมายกัน โดยพื้นฐานแล้วนิยมใช้ว่า “เล่น” เช่น เล่นดนตรี  เล่นระนาด เล่นจะเข้ เล่นเปียโน เล่นไวโอลิน เล่นเพลงนั้น  เล่นเพลงนี้  แม้เมื่อต้องแสดงดนตรีบนเวทีรายการสำคัญๆ มีการถามกันว่า ไปเล่นดนตรีที่ไหน  ศิลปินได้ยินคำถามก็ตอบไปว่า ไปเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เป็นต้น  คำว่า “เล่น”  จึงไม่ใช่ความหมายของคำว่า “เล่น” เพราะเป็นการทำหน้าที่จริงๆ มิเช่นนั้นเพลงย่อมไม่เป็นเพลง เรื่องของดนตรีและปฏิบัติการของศิลปินดนตรีก็เป็นอาชีพดี  มีเกียรติ  นำมาซึ่งรายได้อย่างงาม  จึงทำเป็นเล่นหรือทำเล่นๆ ไม่ได้อย่างแน่นอน  ดังที่อธิบายเรื่องตรัยจรวัตน์แล้วข้างต้น 

                คำ “เล่น” เป็นคำพื้นฐาน  ชวนให้คิดว่านักดนตรีเป็นคนไม่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นคนไม่จริงจัง  และไม่ใส่ใจกับการเรียน  เมื่อมีความคิดอย่างนี้แล้ว นักเรียนดนตรีบางคนจึงถูกผู้ปกครอง  ดุ  ตำหนิว่า  วันทั้งวัน เล่นแต่ดนตรี  งานการไม่ทำ  ตำราไม่ท่อง  หนังสือไม่อ่าน ทั้งที่นักเรียนดนตรีฝึกดนตรีด้วยความมุมานะและใช้ความพยายาม  อย่างนี้นับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด  เพราะคำว่าเล่นดนตรีของผู้ปกครอง  ไม่ได้อยู่ในความหมายของเล่น  หรือเล่นๆ  การเล่นดนตรีที่บ้านของนักเรียนดนตรีเป็นการเอาใจใส่อย่างน่าชมเชย  และต้องให้รางวัล  เพราะเป็นความมุ่งมั่นอย่างสูงของนักเรียน  การเล่นดนตรีของนักเรียนดนตรี  ในความหมายของการศึกษาก็คือการอ่านดนตรีด้วยโน้ต  และฝึกทักษะจากแบบฝึก  หรือท่องดนตรีด้วยเครื่องดนตรีจากความทรงจำ  การเล่นเช่นนี้เป็นหนทางไปสู่ความสำเร็จของวิชาดนตรีโดยแท้

                พื้นฐานของคำว่า “เล่น” หรือ “เล่นดนตรี” ก่อให้เกิดนัยของความหมายหลายอย่าง  คำที่หรูกว่าคำนี้คือคำว่า “บรรเลง”  คำนี้เป็นคำกริยา  ในพจนานุกรมให้ความหมายว่า  “การทำเพลงด้วยเครื่องดุริยางค์ให้เป็นที่เจริญใจ”  มีคำว่า “ทำเพลง” เพิ่มเข้าคำหนึ่ง  แต่มีความหมายแคบกว่าคำ “บรรเลง”  คำว่า “บรรเลง” ให้ความรู้สึกที่เป็นทางการมากกว่าคำว่า “เล่น”  จึงใช้กับการบรรเลงเครื่องดนตรีแต่ละชนิด    บรรเลงเพลงแต่ละเพลง  การบรรเลงของวงดนตรีแต่ละวง  แม้เมื่อใช้กับการฟังว่า  ฟังการเล่น  ฟังการบรรเลง  ทั้งสองคำจึงมีความหมายและความรู้สึกที่แตกต่างกัน

                นอกจากการเล่น - การบรรเลงแล้ว  ยังมีคำที่ร่วมใช้ในปฏิบัติการทางดนตรีอีกคำหนึ่งคือ คำว่า  “ประโคม”  คำนี้เมื่อนำมาใช้อย่างถูกต้องแล้ว  การประโคมเป็นเรื่องของดนตรีพิธีกรรม  ทำเล่นๆ ไม่ได้ การประโคมต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เนื่องจากมีระบบของความเชื่อและพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง  การประโคมโดยนัยสำคัญก็เพื่อกระทำให้เกิดเสียงเป็นสัญญาณในพิธีกรรม  เสียงจากการประโคมเป็นการแสดงความเคารพสักการะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หรือต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ  ความหมายของการประโคมจึงไม่ควรใช้เพื่อความบันเทิงเริงรมย์  เพราะเป็นการใช้คำที่ไม่ตรงความหมาย 

                การเล่นเพลงบรรเลงประโคมดังสาธยายมาข้างต้น  แต่ละคำต่างก็มีนิยาม  มีนัยสำคัญ  คำว่า “เล่น” ในความหมายของดนตรี เป็นคำพื้นๆ ที่ใช้อย่างกันกว้างขวางและไม่เป็นทางการ คำว่า “บรรเลง” มีความหมายที่เป็นทางการ ใช้สำหรับดนตรีทั่วไป  ส่วนคำว่า “ประโคม” มีความหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรม  ดังนั้นคำที่ยกอ้างมานี้จึงควรต้องใช้และปฏิบัติการให้ถูกต้อง  ดังตรัยจรวัตน์ที่แสดงดุลสัมพันธ์ของความเป็นดนตรีดังกล่าวแล้ว

                                                                ----------------------------------------



นานาสาระ

ขิมไทย : ขิมโลก
เขียนโน้ตดนตรีไทย ด้วยโปรแกรม Exel
วิธีการผูกสายขิม article
นัยสำคัญของเพลงพิธีกรรม
ดนตรีในงานประเพณีปอยหลวงที่วัดสันดอนมูล เชียงใหม่
ดนตรีชนเผ่าที่เซกอง ประเทศลาว
เพลงพื้นบ้านบางเลน นครปฐม : พ่อเฒ่าบุญช่วง ศรีรางวัล
ทฤษฎีความสอดคล้องกับการวิจัยขั้นสูง
นัยดนตรีสร้างส่วนสัมพันธ์ของจิตให้สัมบูรณ์
คุณค่าสุนทรียรส และสัจจศิลป์ที่ปรากฏในบทเพลง
ศิลปินบรรเลงเพลงไพเราะยิ่ง
ภวารมณียะ ที่อยู่ในทำนองเพลง
ทฤษฎี 5 เกลียวรู้ : แนวการวิจัยภาคสนาม
บรรเลงเพลงพิธีกรรม
การวิวัฒนาการของกีตาร์คลาสสิก
ดนตรีบวงสรวงเทพารักษ์ : เจ้าพ่อขุนทุ่ง
ราชทินนามของนักดนตรีไทย
ภูมิบ้านภูมิเมืองกับการปกป้องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ISMI : การประชุมดนตรีศึกษานานาชาติ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
โครงการภูมิบ้านภูมิเมือง article
การสัมมนาการศึกษาดนตรีระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย article
การศึกษาดนตรีไทย article
การถ่ายทอดดนตรีในสถานศึกษา article



บ้านดนตรีครูสมชาย 929/12 k akachai Rd., mahachai muang ,samutsakhon 74000. TEL.081-3330147 Copyright © 2015 All Rights Reserved.