ISMI : การประชุมดนตรีศึกษานานาชาติ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
รศ.ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์
ISME เป็นชื่อย่อของคำว่า International Society for Music Education เรียกขานกันว่า Is-Me เป็นการประชุมของนักการดนตรีศึกษาของโลก ที่มีสมาชิกเป็นเครือข่ายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก การประชุมวิชาการนี้องค์การยูเนสโกได้ดำเนินการให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) หรือเมื่อ 53 ปีที่ผ่านมา สำหรับในปี พ.ศ. 2549 นี้ เป็นการจัดประชุมวิชาการครั้งที่ 27 ประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพคือประเทศมาเลเซีย การประชุมใช้สถานที่หลักอยู่ที่ศูนย์ประชุมใหญ่แห่งกรุงกัวลาลัมเปอร์ KLCC (Kuala Lumpur Convention Centre) งานประชุมจัดระหว่างวันที่ 16 21 กรกฎาคม 2549
ในการจัดประชุมวิชาการดนตรีกำหนดให้ดำเนินการทุก 2 ปี และให้แต่ละ
ประเทศของสมาชิกหมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ในอีก 2 ปีข้างหน้าคือปี พ.ศ. 2551 ประเทศที่รับเป็นเจ้าภาพคือประเทศอิตาลี และใน 2 ปีต่อไปซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2553 เจ้าภาพคือประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บรรยากาศกรประชุมของแต่ละครั้งที่ผ่านมา สมาชิกที่เคยผ่านการประชุมให้ข้อมูลว่าได้รับความสนใจจากบรรดาสมาชิกของแต่ละประเทศมาก กรารประชุมครั้งที่ 26 ก่อนหน้าที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภพา จัดที่แอฟริกา มีผู้เข้าร่วมประชุมหมื่นกว่าคน ด้วยทำเลที่ใกล้ยุโรปและอเมริกาและบรรยากาศด้านความสงบเรียบร้อยของโลกมีส่วนเอื้อต่อการเดินทาง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ย่อมกว่าการจัดในทวีปเอเชีย
การประชุมที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียปีนี้แม้ว่าสมาชิกมีจำนวนน้อยกว่ามาก คือประมาณเกือบ 2,000 คน แต่ในสายตาของผู้เขียนก็รู้สึกว่าจำนวนมากและสัมพันธ์กับพื้นที่จัดงาน รูปแบบการจัดประชุมมีการนำเสนอผลงานด้านการวิจัยดนตรีหัวข้อต่างๆ บทความดนตรี ส่วนขอบข่ายเนื้อหาเน้นไปทางด้านดนตรีศึกษา แต่อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับดนตรีลักษณะอื่น เช่น ด้านดนตรีวิทยา ก็มีอยู่หลายหัวข้อ รวมทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการดนตรีด้วย การเข้าร่วมประชุมดนตรีจึงมีความหลากหลาย บรรดาสมาชิกจึงมีโอกาสเลือกเข้าห้องตามตารางที่มีการปรับข้อมูลวันต่อวัน ผู้เข้าร่วมประชุมต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้พลาดหัวข้อความรู้สำคัญที่ตรงกับความสนใจของตน
ในงานประชุมวิชาการ นอกจากการแสดงดนตรีที่จัดแสดงหลายเวที แล้วยังมีการจัดแสดงนิทรรศการทางวิชาการดนตรี มีการจัดร้านจำหน่ายสินค้าดนตรี ทั้งเครื่องดนตรีของพื้นบ้านและดนตรีสากล มีเวทีแสดงของเยาวชน และการดูงานด้านดนตรีนอกสถานที่ ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปแบบของสถาบันการเรียนการสอนศิลปะ ที่รวมวิชาดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้เลือกเดินทางไปศึกษาด้วย ดังข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไป
ประเทศมาเลเซีย ได้จัดรายการหลากหลายที่มีประโยชน์อย่างมาก ภาคพิธีการนั้นมีการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ศิลปะ และมรดกวัฒนธรรม มาเลเซีย (Minister of Culture, Arts and Heritage Malasia) คือ ฯพณฯ ดาโต๊ะ เสรี อุตมะ ดร. ราอีส ยะติม (Datuk seri Uama Dr. Rais Yatim) บรรยายนำ มีการจัดแสดง ซาเป (Sape) ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านจากรัฐซาราวัก รัฐในดินแดนทางฟากตะวันออกของมาเลเซีย
ในด้านเนื้อหาสาระทางด้านดนตรีที่มีการนำเสนอดนตรีในรูปแบบต่างๆ นั้น มีน้ำหนักของเนื้อหาไปทางด้านดนตรีศึกษา ตาม ลักษณะของสมาคมดนตรีศึกษา ความหลากหลายนี้มีกำหนดการลำดับไว้ในเอกสารซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเลือกหา เข้าร่วมฟัง ซักถามหรือแสดงความคิด กับผู้นำเสนองานวิชาการ บางห้องที่มีการจัดแสดงผลงานประกอบกิจกรรม ผู้นำโอกาสเข้าเป็นส่วนร่วมในกิจกรรมนั้นๆ ด้วย ระยะเวลาของการนำเสนอผลงานวิชาการมีตั้งแต่ 30 นาทีซึ่งน้อยที่สุด ไปจนถึง 3 ชั่วโ มง บรรดานักวิจัยดนตรีศึกษามืออาชีพใช้เวทีแห่งนี้ในการเผยแพร่ความรู้ นอกจากนี้เป็นนักศึกษาดนตรีศึกษาของหลายประเทศที่กำลังศึกษาระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต บางรายมีอาจารย์มานั่งกำกับและเข้าช่วยทันทีที่ลูกศิษย์ไม่สามารถตอบข้อคำถามของสมาชิกได้ บรรยากาศการนำเสนองานบางห้องจึงมีบรรยากาศอบอุ่นเพราะผู้ฟังตั้งใจ และคอยช่วยขยายความให้ แต่บางห้องก็ดูแล้งน้ำใจ น่าตื่นกลัว เหมือนลูกนกตกน้ำสั่นเทิ้ม มีช่วงเย็นวันหนึ่งผู้เขียนเลือกเข้าห้องประชุมย่อยเพื่อฟังการนำเสนอผลวิจัยของ
นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาคนหนึ่ง วันนั้นกลุ่มเพื่อนๆ สนใจฟังดนตรีจึงแยกกัน ในห้องประชุมมีผู้เขียนและฝรั่งผู้ใหญ่อีก 2 ท่าน นั่งข้างๆ กัน ห่างออกไปเป็นกลุ่มคนวัยเดียวกับผู้นำเสนอ คอยปรบมือ และส่งเสียงให้กำลังใจเบาๆ ที่ทราบว่าอยู่กลุ่มเดียวกันเพราะทั้งหมดสวมชุดเครื่องแต่งกายอย่างเดียวกัน เมื่อนำเสนอเสร็จก็กล่าวคำขอบคุณไม่ปล่อยให้ผู้ฟังซักถาม เสียงปรบมือจบลงบรรดาเพื่อนๆ ก็วิ่งเข้าไปจับมือแสดงความยินดีกันพร้อมๆ กับหันหน้ามาทางผู้ฟัง 3 คน พยักหน้าแสดงความขอบคุณ ที่เล่าอธิบายมานี้เพื่อขยายความว่าเวทีการประชุม ISME นี้ เป็นเวทีที่บางสถาบันการศึกษากำหนดให้มีการนำเสนอผลงานในระดับนานาชาติ เด็กฝรั่งคนนี้ก็อยู่ในกฎเกณฑ์นี้ โชคดีที่มีผู้ฟังคนนอกเพียง 3 คน หากนำเสนอตอนเช้าและไม่มีรายการแสดงดนตรีประกบอยู่ก็อาจจะไม่อบอุ่นเช่นที่กล่าวนี้ เพราะการนำเสนอผลงานวิชาการบางห้อง ผู้นำเสนออ่านแต่บทที่ตระเตรียมไว้สลับกับแผ่นภาพ PowerPoint เท่านั้น อย่างไรก็ตามการนำเสนอผลงานที่น่าประทับใจอย่างมากคือการนำเสนอหัวข้อ Writing for Research Journals ของอาจารย์จาก UKประเทศอังกฤษ 4 ท่าน ที่ใช้เวลาตรงตามกำหนด และสอดประสานรับกันอย่างดี มี PowerPoint เรียงลำดับเนื้อหา มีผู้นำเสนอ ตั้งแต่ระบบงานของผู้ทำหน้าที่ประธานของงาน โดยคุณ Harry E. Price บรรณาธิการ โดยคุณ Christopher Johnson ผู้ตรวจสอบข้อเขียนโดยคุณ Grahan Melch และผู้เขียนโดยคุณ Jere T. Humphreys ทุกขั้นตอนที่นำเสนอฟังแล้วเข้าใจง่าย
สำหรับจำนวนสมาชิกคนไทยในการประชุม ISME ครั้งนี้ นับเป็นปีแรกที่มีคนไทยเข้าร่วมประชุมมากที่สุด โดยไปจากมหาวิทยาลัยมหิดล 25 คน จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 2 คน และจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 คน คือ ดร. สุวรรณา ..........จำนามสกุลไม่ได้ถามอาจารย์นพีสี..........โดยนำเสนอผลงานดนตรีศึกษาของประเทศไทย มีเนื้อหามุ่งเน้นดนตรีไทยแบบแผน และหลักสูตรการเรียนการสอน
แม้ว่าการประชุมดนตรี ISME มีเนื้อหาที่มุ่งเน้นทางด้านดนตรีศึกษา และดนตรีปฏิบัติการ ซึ่งมีนักวิชาการหลายชาติที่นำเสนอ เช่น การสอนดนตรีญี่ปุ่น ดนตรีของประเทศในอาฟริกา ดนตรีจีน ดนตรีตะวันตก การขับร้อง แต่อย่างไรก็ตามทางประเทศมาเลเซียก็จัดให้มีเนื้อหาด้านดนตรีลักษณะอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะการเสนอดนตรีพื้นบ้าน ให้บรรดาสมาชิกได้ชมและศึกษา โดยจัดหลายพื้นที่ สำหรับสถาบันที่ผู้เขียนไปศึกษาคือสถาบันวิชาการศิลปะแห่งชาติ (National Arts Academic) มีชื่อภาษามลายูว่า Akademi Seni Kebangsaan ดนตรีที่จัดแสดง เช่น วงกัมเมลันที่มีแนวเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย การสีซอรือบับ (Rebab) การตีบานอใหญ่ (Rebana Besar หรือ Rebana Ubi) ซึ่งเป็นดนตรีชนเผ่าดั้งเดิมของมาเลเซียที่มาจากรัฐซาระวัก การดีดปิผา (Pipa) เป่าปี่เซไน และการแสดงดนตรีของนักเรียนนั้นมีความพร้อมไม่มากนักแต่ก็สร้างความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมีการนำเสนอในเชิงปฏิบัติการ
มีการแสดงวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของศิลปินที่ศูนย์การค้าสุริยา (Suria) คือโนราแขก การแสดงโนราแขกนี้เป็นการแสดงของศิลปินอาชีพ และมีเยาวชนร่วมด้วย ลักษณะของโนราแขกคล้ายคลึงกับโนราในพื้นที่หลายจังหวัดภาคใต้ของไทย ส่วนที่เหมือนกันคือรูปแบบการแสดง ผู้แสดงสวมเทริด สวมหน้าพราน เครื่องดนตรีมีปี่ปากลำโพงเช่นเดียวกับปี่ชวา มีกลองตุ๊ก 2 ใบ แต่ขนาดใหญ่ มีฆ้องขนาดใหญ่ 2 ใบ แขวน ฆ้องคู่ (โหม่ง) ทับ และแตระ ผู้แสดงมีการร้อง เจรจาด้วยภาษามลายู (Malayu Bahasa) เพลงมีทำนองที่เป็นเพลงท้องถิ่นมาเลย์ โดยปริยายก็พบว่ามีวัฒนธรรมผสมผสานของวัฒนธรรมการแสดงของไทยถิ่นใต้ และวัฒนธรรมมลายู มีผู้ชมยืนรายล้อมชมการแสดงจำนวนมาก และหัวเราะไปกับบทแสดงที่นักแสดงถ่ายทอดออกมาในแนวตลก นอกจากวัฒนธรรมการแสดงที่ผสมผสานของสองวัฒนธรรมแล้ว การแสดงโนราแขกยังมีความน่าสนใจตรงความแปลก เก๋ ดี คือความเป็นพื้นบ้านขึ้นห้าง เพราะจัดแสดงในศูนย์การค้าที่ทันสมัยที่สุดของมาเลเซีย ในบรรยากาศของแอร์เย็นฉ่ำ ท่ามกลางผู้ชมคนกรุงที่เป็นคนรุ่นใหม่กับศิลปะพื้นบ้าน เป็นความขัดแย้งบนความจริง
ในการศึกษาดูงาน และเข้าร่วมการประชุมนักดนตรีศึกษานานาชาติ (ISME) ครั้งนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอภาพประกอบ ความเป็นดนตรีที่หลากหลาย ทั้งด้านดนตรีศึกษา ดนตรีวิทยา ดนตรีปฏิบัติ การจัดการของมาเลเซียในฐานะประเทศเจ้าภาพ ทั้งนี้ผู้เขียนมีความคิดหวังลึกๆ ว่า ปีใดปีหนึ่งข้างหน้าแม้จะยาวไกลบ้างก็น่าจะมีการจัดประชุมนักดนตรีศึกษานานาชาติ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพบ้าง